LASTEST NEWS

28 ก.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู รอบที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 28 ก.ย. 2567สพป.เชียงใหม่ เขต 2 เผยอัตราว่างเรียกบรรจุครูผู้ช่วย 10 อัตรา 28 ก.ย. 2567 สพป.อุดรธานี เขต 2 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 3 อัตรา - รายงานตัว 7 ตุลาคม 2567 28 ก.ย. 2567สพป.อุบลราชธานี เขต 1 ประกาศผลพิจารณาย้าย ข้าราชการครูฯ สายงานบริหารสถานศึกษา ประจำปี พ.ศ.2567 28 ก.ย. 2567สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 รับสมัครพนักงานราชการครู 3 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 1 - 7 ตุลาคม 2567 28 ก.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู รอบที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 27 ก.ย. 2567กรุงเทพมหานคร เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 183 อัตรา รายงานตัวผ่านระบบออนไลน์ 17 ต.ค.2567 26 ก.ย. 2567ก.ค.ศ.เห็นชอบ ปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่งสายงานบริหารสถานศึกษา ต้องเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ 26 ก.ย. 2567ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 25 ก.ย. 2567สพม.นนทบุรี เรียกบรรจุครูผู้ช่วย รอบที่ 13 (บัญชีปี 2566) จำนวน 9 วิชาเอก จำนวน 24 อัตรา - รายงานตัว 2 ต.ค.2567

ด่วน! กสถ.ชี้แจงแล้ว! ตอบทุกประเด็นปัญหาจัดสอบท้องถิ่นปี 62 - รวมถึง "ข้อแนะนำ" ซึ่งอยู่ที่ปกหน้าของแบบทดสอบ

  • 16 ก.ค. 2562 เวลา 20:30 น.
  • 25,636
ด่วน! กสถ.ชี้แจงแล้ว! ตอบทุกประเด็นปัญหาจัดสอบท้องถิ่นปี 62 - รวมถึง "ข้อแนะนำ" ซึ่งอยู่ที่ปกหน้าของแบบทดสอบ

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

ด่วน! กสถ.ชี้แจงแล้ว! ตอบทุกประเด็นปัญหา การดำเนินการสอบแข่งขันฯ ท้องถิ่น ปี2562

ประชาสัมพันธ์ กสถ.
เรื่อง การดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ปี 2562

ตามที่คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ได้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ปี 2562 โดยได้ดำเนินการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) และภาคความรู้ความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่ง (ภาค ข) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมาซึ่งจากการติดตามการสอบดังกล่าวยังไม่ปรากฏว่ามีการทุจริตหรือมีข้อสอบรั่วแต่อย่างไร แต่มีปรากฏข่าวเกี่ยวกับข้อผิดพลาดและคลาดเคลื่อนในบางประเด็น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและผดุงไว้ซึ่งความสุจริต และเที่ยงธรรม ตลอดจนเกรียติภูมิของผู้เข้าสอบและผู้ที่สอบผ่านในการสอบครั้งนี้ จึงขอชี้แจงข่าวเกี่ยวกับข้อผิดพลาดและคลาดเคลื่อนในบางประเด็นที่ปรากฏเป็นข่าว ดังนี้

1. ประเด็นเกี่ยวกับข้อความที่มีความคลาดเคลื่อน ในส่วนของ "ข้อแนะนำ" ซึ่งอยู่ที่ปกหน้าของแบบทดสอบ นั้น ได้รับคำชี้แจงจากมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการสอบในครั้งนี้ว่า ข้อความดังกล่าว เป็นข้อความที่อยู่ในปกหน้าของแบบทดสอบ โดยเป็นการอธิบายวิธีการทำข้อสอบปรนัยให้ผู้เข้าสอบได้ทราบ ซึ่งข้อแนะนำดังกล่าวไม่ว่าหน่วยงานใดที่มีการจัดสอบแบบปรนัย ก็จะใช้ข้อความในลักษณะเดียวกัน ซึ่งไม่มีผลกระทบกับการทำแบบทดสอบหรือการตรวจให้คะแนนแต่อย่างไร ประกอบกับมหาวิทยาลัยได้มีการแจ้งไปยังสถานที่สอบต่างๆ ให้กรรมการคุมสอบแจ้งให้ผู้เข้าสอบได้ทราบและแก้ไขข้อความดังกล่าวให้ถูกต้องแล้ว"

โดย กสถ. ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่าเหตุที่เกิดความคาดเคลื่อนดังกล่าว เกิดขึ้นมาจากการจำกัดให้เฉพาะผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น ที่เข้าถึงข้อสอบได้ (เพื่อป้องกันการทุจริต) และเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อสอบและคำตอบให้ได้ 100% ดังนั้น การตรวจทานโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ใช่เนื้อหาข้อสอบจึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ทั้งนี้ ข้อความที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อเนื้อหาข้อสอบแต่อย่างใด

2. ประเด็นเกี่ยวกับมาตรฐานหรือเนื้อหาของข้อสอบ ที่มีข่าวว่า “มีการใช้หรือคัดลอกจากข้อสอบเก่าของหน่วยงานอื่น” นั้น ขอชี้แจง ดังนี้

2.1 ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีการกำหนดขอบเขตเนื้อหาวิชาเฉพาะเจาะจงที่จะใช้เพื่อการทดสอบให้ได้บุคคลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานใน อปท. เช่นในภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) ได้มีการกำหนดให้สอบวิชาความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการ ซึ่งเป็นการทดสอบความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวกับกฎหมายในการปฏิบัติราชการของ อปท. จำนวน 11 ฉบับ ซึ่งหน่วยงานอื่นไม่มีการสอบในวิชาดังกล่าวหรือการสอบภาคความรู้ความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่ง (ภาค ข) ก็จะกำหนดให้สอบในวิชาที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานใน อปท. ในตำแหน่งนั้น เพราะฉะนั้นวิชาต่างๆส่วนใหญ่จึงเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องซึ่งหน่วยงานอื่นก็ไม่มีการสอบในวิชาดังกล่าวเช่นเดียวกัน
2.2 การออกข้อสอบ ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการออกข้อสอบ โดยต้องเป็นคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิ ประสบการณ์การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่จะออกข้อสอบและไม่เป็นติวเตอร์ (ผู้สอนพิเศษ) หรือผู้จัดทำเอกสารหรือคู่มือเตรียมสอบที่เกี่ยวข้องกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการ ซึ่งคณบดีที่รับผิดชอบในศาสตร์สาขานั้นๆ เป็นผู้กลั่นกรองและคัดเลือก โดยต้องแจ้งรายชื่อคณาอาจารย์ที่เป็นกรรมการออกข้อสอบดังกล่าวเพื่อตรวจสอบด้วย
2.3 การออกข้อสอบ ได้กำหนดให้ต้องกระทำ ณ สถานที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยแต่ละวิชาต้องให้คณาจารย์ในศาสตร์สาขานั้นอย่างน้อย 3 คน เป็นผู้ออกข้อสอบโดยการเขียนด้วยลายมือของผู้ออกข้อสอบไม่ให้พิมพ์(เพื่อป้องกันการ copy) และต้องออกข้อสอบจำนวนอย่างน้อย 5 เท่าของจำนวนข้อที่ใช้ในการสอบ
2.4 ในการจัดทำแบบทดสอบ กำหนดให้ต้องมีคุณลักษณะที่ดีตามหลักการวัดผล ได้แก่ มีความเที่ยงตรง(Validity) มีความน่าเชื่อถือ (Reliability) มีความยากง่ายพอเหมาะ (Difficulty) มีอำนาจจำแนก (Discrimination)มีความยุติธรรม (Fairness) และมีความเป็นปรนัย (Objectivity) 
2.5 การคัดเลือกข้อสอบ กำหนดให้มหาวิทยาลัยฯ ต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบประกอบด้วยคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิ ประสบการณ์การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่จะใช้เป็นข้อสอบและต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการวัดผลการศึกษา แต่ต้องไม่ใช่ผู้ออกข้อสอบซึ่งคณบดีที่รับผิดชอบในศาสตร์สาขานั้นๆ เป็นผู้กลั่นกรองและคัดเลือก
2.6 การคัดเลือกข้อสอบ ต้องได้มาตรฐานตามหลักวิชาการเพื่อข้อสอบที่ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการคัดเลือกข้อสอบมีคุณภาพตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง
2.7 กำหนดให้คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริต และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ตรวจสอบด้วยการสังเกตการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการคัดเลือกข้อสอบ โดยห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการและการดำเนินการคัดเลือกข้อสอบโดยเด็ดขาด
2.8 ข้อสอบที่ได้รับการคัดเลือกและการพิมพ์ต้นฉบับข้อสอบต้องกำหนดมาตรการการบริหารจัดการข้อสอบ ซึ่งต้องมีความมิดชิด ปลอดภัย รัดกุม โดยกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบชัดเจน และต้องป้องกันการเข้าถึงจากผู้ไม่มีหน้าที่และป้องกันการรั่วไหลของข้อสอบและคำตอบได้ 100%
2.9 มีการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย สถานที่ บุคคล อย่างรัดกุม เข้มงวด และกำหนดการรักษาความลับแก่กรรมการคัดเลือกข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบให้เป็นความลับในระดับ “ลับที่สุด” ซึ่งนอกจากกรรมการคัดเลือกข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับแล้ว ห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อสอบโดยเด็ดขาด รวมทั้งกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องกำหนดมาตรการเก็บตัวกรรมการออกข้อสอบ กรรมการคัดเลือกข้อสอบและเจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบจนกว่าการสอบแข่งขันจะเสร็จสิ้น

3. ประเด็นเกี่ยวกับงบประมาณในการสอบแข่งขัน ขอชี้แจง ดังนี้
3.1 งบประมาณที่ใช้ในการสอบแข่งขันในแต่ละครั้ง ใช้จากเงินค่าธรรมเนียมการสมัครสอบในอัตราคนละ 300 บาท (ไม่มีการตั้งงบประมาณจากส่วนราชการสนับสนุนหรืออุดหนุน) ซึ่งเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการสอบ ขั้นตอนการดำเนินการสอบภาค ก สอบภาค ข สอบภาค ค จนถึงขั้นตอนการบรรจุผู้สอบแข่งขันได้เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น
3.2 การใช้จ่ายงบประมาณที่ได้มาจากค่าธรรมเนียมการสมัครสอบดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) และการใช้จ่ายต้องเป็นไปตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎหมาย ระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และใช้จ่ายได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการสอบแข่งขันเท่านั้น
3.3 การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ จะถูกตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ เช่นเดียวกับการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการอื่นหรือ อปท. เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น
3.4 งบประมาณที่เหลือจากการใช้จ่ายในการสอบแข่งขันทั้งหมดจะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินโดยที่ผ่านมาได้มีการนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินไปแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาท

4. ประเด็นเกี่ยวกับหน่วยดำเนินการสอบแข่งขัน ขอชี้แจง ดังนี้
4.1 การดำเนินการสอบแข่งขันในครั้งนี้ ดำเนินการโดยคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 ซึ่งมีวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ “แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ อปท. ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากมีการใช้ระบบอุปถัมภ์ในการสอบแข่งขัน …รวมถึงมีการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรม และเกิดความเสียหายต่อระบบการบริหารงานบุคคลของ อปท. อย่างร้ายแรง โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวกับการสอบแข่งขัน เพื่อให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” โดยให้คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ที่ ก.กลาง แต่งตั้งขึ้นเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.กลาง กำหนด

4.2 ในการจัดการสอบแข่งขัน กสถ. ได้ให้มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้จัดการสอบแข่งขันภายใต้การกำกับดูแลของ กสถ. ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.กลาง กำหนดไว้ตามประกาศ ก.กลาง เรื่องมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสอบแข่งขัน พ.ศ. 2560 โดยได้มีการกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการจ้างและเกิดความเสียหายต่อการสอบแข่งขันครั้งนี้

สุดท้ายขอเรียนว่า คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ใช้ความพยายามและความทุ่มเทอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้การสอบเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ได้คนดี มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม อย่างแท้จริงมาปฏิบัติงานใน อปท. จึงขอความร่วมมือจากทุกท่านและทุกฝ่ายได้เชื่อมั่นในกระบวนการสอบที่ผ่านมา และหากมีเบาะแสหรือพบเห็นพฤติการณ์การทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ขอให้แจ้งคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) หรือสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดได้ทุกจังหวัด

นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร
ประธานกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.)
15 กรกฎาคม 2562

ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: ข่าวประชาสัมพันธ์  กสถ. วันที่ 15 กรกฎาคม 2562
  • 16 ก.ค. 2562 เวลา 20:30 น.
  • 25,636

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^