โรงเรียนนี้ไม่มีการบ้าน ไม่ต้องสอบ!
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
โรงเรียนนี้ไม่มีการบ้าน ไม่ต้องสอบ!ถ้าโรงเรียนไม่มี "การบ้าน" และ "ไม่ต้องสอบ" ระบบการศึกษาของบ้านเราจะทำให้เด็กไทยเก่งขึ้นหรือไม่?
คุณทนง โชติสรยุทธ์ เป็นหนึ่งในคนไทยที่พยายามจะปฏิรูปการศึกษาในทุกระดับ พร้อมนำเอาแนวทางใหม่ๆ มาช่วยยกเครื่องระบบการศึกษาเก่าเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
วันก่อนคุณทนงเขียนมาเล่าให้ฟังถึงการไปทดลองระบบใหม่ที่โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยนครพนม
ผมเห็นว่าน่าสนใจมาก จึงได้ขออนุญาตท่านนำมาเล่าต่อเพื่อให้คนไทยได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในการสร้างเด็กไทยให้เก่งและมีวุฒิภาวะทันกับโลกทุกวันนี้
คุณทนงเขียนเล่าอย่างนี้ครับ...
ผมเพิ่งถูกขอร้องให้ไปช่วยทำฝันของมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างโรงเรียนสาธิตนี้ให้เป็นโรงเรียนชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานให้เป็นจริง ในฐานะประธานกรรมการบริหารโรงเรียน
โรงเรียนนี้เปิดมา 3 ปี จัดการสอนในระดับอนุบาลถึงมัธยม 6 โดยเปิดพร้อมกันหมดในระดับอนุบาลถึงประถม 4 และมัธยม 1-6!!
โรงเรียนนี้มีเพียงอาคารสองชั้นเล็กๆ หนึ่งอาคาร แบ่งพื้นที่มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งมาสร้าง จึงไม่มีสนามกีฬา ยังไม่มีห้องสมุดเป็นเรื่องเป็นราว ด้วยความที่ต้องการให้เป็นโรงเรียนชั้นนำของภูมิภาคที่ให้บริการลาวและเวียดนามด้วย จึงตั้งใจให้เป็นโรงเรียนที่เน้นเทคโนโลยี และสอนแทบทุกวิชาเป็นภาษาอังกฤษ
คุณครูที่นี่ขณะนี้มีราว 20 คน (เพิ่งรับมาเพิ่มสดๆ หลายท่าน) เป็นหนุ่มสาวที่ไม่เคยเรียนครู และไม่มีประสบการณ์การสอนในโรงเรียนมาก่อน ไม่เคยได้รับการอบรมการเขียนแผนการเรียนการสอนมาก่อน
โรงเรียนนี้เป็นฝันของอาจารย์ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม (ในขณะนั้น ขณะนี้เพิ่งหมดวาระ) ที่อยากให้เกิดโรงเรียนสาธิตดีๆ เพิ่มขึ้นในภาคอีสาน เพิ่งได้ครูเยอรมันมาใหม่คนหนึ่ง เป็นครูต่างชาติคนเดียวของโรงเรียนนี้ ที่ต้องเดินทางไกลมาสอนทุกวันเพราะอยู่อำเภออื่น
ที่สำคัญยังหาผู้อำนวยการโรงเรียนที่เหมาะสมไม่ได้
ที่นี่ค่าเทอมราว 8 หมื่นบาทต่อปี (รวมค่าหนังสือเรียนที่ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ รวมค่าอาหารเที่ยงและอาหารว่าง) ซึ่งไม่น้อยเลยสำหรับผู้ปกครองส่วนใหญ่ จึงมีความคาดหวังสูงมากสอดคล้องกับความฝันของมหาวิทยาลัยที่นำเสนอผ่าน VDO แนะนำโรงเรียน
แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินงานปกติของโรงเรียน เพราะนักเรียนทั้งโรงเรียนในปีการศึกษา 2562 มีเพียงประมาณ 90 คนเท่านั้น!!
ห้องเรียนหนึ่งจึงมีเพียงไม่กี่คนจริงๆ
ผู้ปกครองยังมีความเป็นห่วงมากมาย คุณครูก็ได้รับแรงกดดันสูงมากจากการถูกคาดหวังเหล่านี้
สิ่งที่โรงเรียนนี้มีคือ คุณครูทุกท่านพร้อมจะเรียนรู้ และพร้อมจะลงมือทำ เพราะทุกเรื่องเป็นเรื่องใหม่หมดที่ยังไม่มีประสบการณ์เป็นครูมาก่อน จึงพร้อมรับ
ผมจะต้องช่วยคุณครูเหล่านี้ ทำสิ่งมหัศจรรย์ตามความฝันของมหาวิทยาลัย ให้เกิดขึ้นภายใน 2 ปีการศึกษา!!
มีหลายคนถามว่า ช่วยเล่าเรื่องสนุกๆ ที่จะเกิดขึ้นที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยนครพนมให้รู้หน่อย
ในฐานะที่เป็นโรงเรียนสาธิตที่อยากจะพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่ดึงศักยภาพของเด็กแต่ละคนออกมาให้ได้มากที่สุด รองรับการเติบโตในฐานะที่จังหวัดนครพนมเป็นศูนย์กลางอนุภูมิภาคลำน้ำโขง และเป็นเมืองที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นเมืองที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทย
เรามุ่งมั่นที่จะบ่มเพาะสมรรถนะแห่งอนาคตให้ลูกหลานชาวนครพนม
เราเริ่มออกแบบ ecosystem ใหม่ ให้เด็กมีเวลาเรียนรู้และค้นพบตนเอง ผ่านการคิด การค้นหาความรู้ การทานซ้ำ การลงมือทำ และต่อยอดความรู้ ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลายให้ได้มากที่สุด
เราเริ่มจากการจัดแบ่งภาคการศึกษาใหม่ ให้ท้าทาย ให้สนุก ไม่ล้ามากขึ้น และมีเวลาทำ PBL และกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้น
เราเริ่มลดเวลาการเรียนในห้องลงเหลือคาบละ 45 นาที
เราเริ่มใช้แนวคิด No Homework และ No Exam เต็มรูปแบบในทุกระดับชั้น!! เพื่อให้เด็กมีเวลาเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น และครูมีเวลาพัฒนาตนเองมากขึ้นเช่นกัน
เราเริ่มพัฒนาทุกวิชาและทุกกิจกรรม ให้มีความหมายต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต และแก้ปัญหาประเทศระยะยาว
คุณครูที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การงานอาชีพ และครูสายอื่นที่สนุกและอาสาอยากสอนหุ่นยนต์ (อย่างครูภาษาอังกฤษ) ทั้งประถมและมัธยม มาร่วมเรียนรู้เพื่อพร้อมสอนวิชาการสร้างนวัตกรรม (Robotics & Coding) ให้เด็กในทุกระดับชั้น และต่อยอดจากแนวคิด One Child, One Robot ไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ภาษาไพธอน
อบรมวันที่ 13 เพื่อเริ่มสอนวันที่ 16!!
นี่เป็นตามแนวคิด Massively Scalable Process ครับ คือ ครูเดิมเรียนรู้ง่าย ทำตามง่าย ได้ผลสูงเป็นรูปธรรม ไม่ต้องตั้งท่ามากนักครับ นี่คือตัวอย่างสนุกๆ ครับ.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลา 00:01 น.