ร้องหลักสูตรครู4ปีเนื้อหาย่ำกับที่ บางสถาบันลักไก่ตั้งชื่อวิชาใหม่ แต่เนื้อในของเดิมเป๊ะ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ร้องหลักสูตรครู4ปีเนื้อหาย่ำกับที่ บางสถาบันลักไก่ตั้งชื่อวิชาใหม่ แต่เนื้อในของเดิมเป๊ะ27พ.ค.62-หลักสูตรผลิตครู 4 ปี เกิดเรื่อง เหตุ บางสถาบัน ไม่ยอมปรับเนื้อหาวิชาเดิม แต่ใช้วิธีตั้งชื่อวิชาใหม่แต่สอนแบบเดิม “เอกชัย” เผยครูต้องคิดค้นวิชาใหม่ นำองค์ความรู้เดิมมาต่อยอด กำชับประเมินผลการเรียนการสอนแบบเข้มงวด พร้อมกับฟังเสียงสะท้อนจาก นักศึกษา ครู
นายเอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวว่า ตามที่สถาบันผลิตครูหลายแห่งมีการปรับไปใช้หลักสูตรผลิตครู 4 ปีแล้วนั้น ขณะนี้พบว่า หลักสูตรการผลิตครู 4 ปี ของบางสถาบันมีปัญหา เนื่องจากไม่ยอมปรับเนื้อหาของวิชาขึ้นใหม่ แต่เลือกใช้วิธีการตั้งชื่อวิชาใหม่แทน แต่ยังคงสอนเนื้อหาแบบเดิม เช่น วิชาจิตวิทยาการสอน และหลักสูตรการสอน ซึ่ง 2 วิชานี้นักศึกษา สะท้อนออกมาว่า อาจารย์สอนซ้ำและเป็นการเรียนที่ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งตนคิดว่าสาเหตุที่ส่วนใหญ่ไม่ยอมปรับปรุงวิชาการสอนในวิชาครูนั้น เพราะอาจารย์บางคนกลัวว่าตัวเองจะไม่มีวิชาที่จะสอนและภาระงานลดลง เกิดความกังวลว่า จะไม่มั่นคงในการทำงาน จึงทำให้ต้องป้องกันวิชาของตัวเองเอาไว้ก่อน ส่งผลให้การผลิตครูของเราเดินช้า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะตนมองว่าในหลักสูตรผลิตครู 4 ปี ครูต้องคิดค้นวิชาใหม่ๆ มาสอนเด็ก ด้วยการนำองค์ความรู้เดิมมาต่อยอดกับศาสตร์วิชาใหม่ เช่น การเรียนวิชาโค้ดดิ้ง เป็นการเรียนเขียนโปรแกรม หากครูผู้สอนนำมาประยุกต์กับวิชาพื้นฐานเดิมที่สอนอยู่ก็สามารถกลายเป็นวิชาใหม่ๆ ได้ ดังนั้น เราต้องปรับวิธีคิดตลอดเวลา
"เหมือนกับหมอหากมาเจอโรคใหม่ๆไม่มีวิธีรักษาคนไข้ก็ต้องตายหมด ซึ่งมันไม่ใช่ เราสามารถต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม คณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์จะต้องติดตามและมีการประเมินผลการเรียนการสอนของอาจารย์ผู้สอนนักศึกษาครูแบบเข้มงวด พร้อมกับฟังเสียงสะท้อนจากนักศึกษาครูให้มากขึ้น แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยจะมีอิสระทางวิชาการก็จริงแต่ต้องมีอิสระในการกำกับดูแลการสอนที่ถูกต้องด้วย"ประธานกมว.กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผลิตครูอย่างมีคุณภาพและพัฒนาความรู้ของครูยุคใหม่ให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้นนั้น นายเอกชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เราต้องเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันผลิตครู โดยเฉพาะคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ เพราะหากยังยึดติดการสอนแบบเดิมๆ ผู้เรียนก็จะได้รับความรู้แบบเดิมไม่มีการต่อยอดหรือตามทันการการเรียนการสอนยุคใหม่ได้ ซึ่งตนมองว่าสิ่งหนึ่งที่เรายังขาดอยู่มาก คือ การปลูกฝังความเป็นครูให้แก่นักศึกษาครู เช่น อาจารย์ผู้สอนจะต้องเอาใจใส่นักศึกษาด้วยการเปิดรับฟังข้อคิดเห็นของลูกศิษย์ ต้องมีใจกว้างเพราะนักเรียนอาจคิดเห็นไม่เหมือนกับเรา เป็นต้น
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09:21 น.