ตีกลับเกณฑ์คัดผู้บริหาร รร.ร่วมพัฒนา บอร์ดก.ค.ศ.สั่งดูรอบคอบหวั่นขัดกฎหมาย
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ตีกลับเกณฑ์คัดผู้บริหาร รร.ร่วมพัฒนา บอร์ดก.ค.ศ.สั่งดูรอบคอบหวั่นขัดกฎหมายบอร์ดก.ค.ศ. ตีกลับเกณฑ์คัดเลือกผู้บริหารกร.ร.ร่วมพัฒนา หวั่นขัดกับกฎหมาย พร้อมไฟเขียวเกณฑ์คัดศึกษานิเทศก์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
วันนี้ (9 พ.ค.) ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการก.ค.ศ. ที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรมว.ศึกษาธิการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เห็นชอบให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการคัดเลือกบรรจุทายาทของข้าราชการพลเรือนสามัญที่เสียชีวิต ทุพพลภาพหรือพิการจนต้องออกจากราชการ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี เข้ารับราชการพลเรือนสามัญ มาบังคับใช้โดยอนุโลมกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามาตรา 38 ค.(2) โดยให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นผู้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ
ดร.อุษณีย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอนุมัติร่างหลักเกณฑ์และวิธีการการคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูลและสงขลา โดยผู้มีสิทธิสมัคร ต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานตำแหน่งและต้องเป็นข้าราชการสังกัดศธ. และกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับการคัดเลือกปฏิบัติหน้าที่ศึกษานิเทศก์ในหน่วยงานที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งไม่น้อยกว่า 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับบรรจุแต่งตั้ง จึงจะขอเปลี่ยนตำแหน่ง ย้าย หรือโอนได้
“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือ เกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการโอน ย้าย และสรรหาผู้บริหารสถานศึกษาในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ซึ่งที่ประชุมรับทราบหลักการไว้ก่อนแต่ในรายละเอียดมอบหมายให้ก.ค.ศ. ไปพิจารณาเพิ่มเติมไม่ให้ขัดข้อกฎหมาย ซึ่งประเด็นที่อภิปรายกันมาก จะเป็นเรื่องการทำสัญญาจ้าง ที่จะต้องมีความชัดเจน รวมถึงหลักเกณฑ์การรับโอนและการโอนย้าย ซึ่งจะเปิดกว้างให้ผู้ที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนทั้ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถสมัครเข้ารับการสรรหาได้ อาจจะขัดต่อกฎหมายเพราะใช้กับโรงเรียนกลุ่มนี้กลุ่มเดียว ดังนั้นจึงขอให้ก.ค.ศ. ไปดูรายละเอียดให้รอบคอบ และเสนอให้ที่ประชุมก.ค.ศ.พิจารณาต่อไป”ดร.อุษณีย์ กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 9 พ.ค. 2562 เวลา 15:25 น.