ข่าวด่วน!! ครม.ตีตก พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ รอรัฐบาลใหม่พิจารณา

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม
ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์
ก-
ก+
คณะรัฐมนตรี มีมติไม่ส่งร่างพระราชกำหนดการศึกษาแห่งชาติ รอรัฐบาลใหม่พิจารณาเป็นพระราชบัญญัติตามขั้นตอนของสภาฯ ด้าน รองประธาน กอปศ.หวั่นหลักการใหญ่ถูกปรับแก้
วันนี้ (8 พ.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาร่างพระราชกำหนด( พ.ร.ก.)การศึกษาแห่งชาติ และมีมติชัดเจนว่า จะไม่มีการออกเป็น พ.ร.ก. เพราะยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา เสนอกฎหมายเข้าสภาฯตามขั้นตอน ส่วนรัฐบาลใหม่จะรับลูกต่อหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ
ด้าน รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวว่า ค่อนข้างกังวลว่า หากไม่สามารถออก พ.ร.ก. การศึกษาแห่งชาติ ได้ภายในรัฐบาลนี้ อาจต้องใช้เวลา อีกทั้งเมื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร อาจถูกปรับแก้ไขจนหลักการต่างๆ ที่วางไว้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่ก็เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ครม. น่าจะมีเหตุผล อยากให้ผ่านสภาฯ ตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งจากนี้ต้องเป็นหน้าที่ของศธ. ที่ต้องเดินหน้าผลักดัน และไม่ว่าพรรคการเมืองใด จะเข้ามาดูแลศธ. ก็เชื่อว่า จะเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาและผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ขึ้นโดยเร็ว
“ กอปศ.สบายใจอย่างหนึ่ง คือ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว รอประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งในแผนดังกล่าว กำหนดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หรือ พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ ยังไม่เกิดขึ้น จะส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่จะดูแลการศึกษาในภาพรวมทั้งประเทศ ยังไม่เกิดตามไปด้วย จึงเป็นหน้าที่ของศธ. ที่ต้องเร่งผลักดัน ส่วนคนที่ออกมาคัดค้านและหวังจะไปปรับแก้ในช่วงการพิจารณาของสภาฯชุดใหม่ นั้น มั่นใจว่า หลักการใหญ่ๆ ที่วางไว้จะไม่ถูกปรับแก้ โดยอยากให้ผู้ที่คัดค้านทำความเข้าใจ และศึกษาหลักการของร่าง พ.ร.บการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ซึ่งจะเน้นการเพิ่มคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความสามารถในการแข่งขัน เรื่องที่ออกมาคัดค้านเป็นเพียงประเด็นเล็ก อาทิ การกำหนดชื่อตำแหน่งครูใหญ่ ซึ่งต้องการให้ความสำคัญกับความเป็นครู ไม่ใช่ลดทอนคุณค่าให้ครูเป็นเพียงอาชีพหนึ่งเท่านั้น” รศ.ดร.ดารณี กล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2562 เวลา 14.00 น.