ก.ค.ศ.อนุมัติแล้ว! เกณฑ์คัดเลือกครูผู้ช่วย 4 กรณีพิเศษ- เกณฑ์โอนย้ายครูข้ามแท่งในศธ.
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ก.ค.ศ.อนุมัติแล้ว! เกณฑ์คัดเลือกครูผู้ช่วย 4 กรณีพิเศษ- เกณฑ์โอนย้ายครูข้ามแท่งในศธ.ก.ค.ศ.ไฟเขียวเกณฑ์คัดเลือกครูผู้ช่วย 4 กรณีพิเศษ “ตามมติครม.-โครงการพิเศษ/ทุนรัฐบาล-บรรจุพื้นที่พิเศษ-จำเป็น/เหตุพิเศษ” ตามมาตรา 50 ให้อำนาจกศจ.พิจารณา พร้อมเห็นชอบเกณฑ์โอนย้ายครูข้ามหน่วยงานภายในสังกัด ศธ.ใช้เป็นมาตรฐาน ชี้ทั้ง 2 กรณีถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น
วันนี้ (23 เม.ย.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ จำนวน 4 กรณี ดังนี้
1) กรณีมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.),
2) กรณีมีสัญญาณผูกพันตามโครงการพิเศษ /นักเรียนทุนรัฐบาล
3) กรณีการบรรจุในพื้นที่พิเศษ และ
4) กรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษอื่น
ซึ่งการยกร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไป ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 50 ในกรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษที่ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ไม่สามารถดำเนินการสอบแข่งขันได้ หรือการสอบแข่งขันอาจทำให้ไม่ได้บุคคลต้องตามประสงค์ของทางราชการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ อาจคัดเลือกบุคลากรเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาโดยวิธีอื่นได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.ค.ศ.กำหนด แต่ปัจจุบันไม่มีอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้พิจารณา
“เรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญและผมดีใจที่สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นในยุคนี้ ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์ตามมาตรา 50 ยังไม่เคยดำเนินการมาก่อน และไม่ใช่การสอบแบบปกติ แต่เป็นการคัดเลือกจากเหตุผลและความจำเป็น ดังนั้น ที่ประชุมได้เน้นย้ำว่าต้องพิจารณาตามด้วยเหตุผลความจำเป็นจริงๆ โดยให้ในพื้นที่ซึ่งก็คือ กศจ.พิจารณาและต้องเป็นความจำเป็นที่เห็นร่วมกัน โดยเฉพาะในกรณีการบรรจุในพื้นที่พิเศษ และกรณีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษอื่น นั้นจะต้องเสนอให้ ก.ค.ศ.อนุมัติก่อนดำเนินการแต่ละครั้ง แต่ในทุกกรณีจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการบรรจุและแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าว ถือเป็นการทำงานรองรับกับร่างพ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ,โรงเรียนร่วมพัฒนา, โรงเรียนกลุ่มวัตถุประสงค์พิเศษ เช่น โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย หรือโรงเรียนในพื้นที่ภูเขา ห่างไกล อาจจะมีความจำเป็นก็ต้องคัดคนเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มาบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ซึ่งถือเป็นครั้งแรกเพราะอดีตการขอโอนย้ายข้ามหน่วยราชการภายในสังกัด ศธ.จะใช้วิธีการพิจารณาเป็นรายๆไป แต่จากนี้ต้องพิจารณาตามเกณฑ์มาตรฐานนี้ ที่ได้มีกำหนดรายละเอียดไว้ เช่น สถานศึกษาที่จะรับโอนข้าราชการครูฯ ต้องมีเหตุผลและความจำเป็นที่จะรับโอน,ต้องมีความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา,ต้องไม่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ หรือผู้ได้รับการคัดเลือกรอการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยในกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกที่จะรับโอนของ กศจ.หรืออ.ก.ค.ศ.ที่ก.ค.ศ.ตั้ง เป็นต้น
“เกณฑ์นี้จะกำหนดเฉพาะตำแหน่งครูเท่านั้น ต่อไปครูที่ขอโอนย้ายข้ามหน่วยงานราชในกระทรวง ต้องยึดไปตามเกณฑ์นี้ซึ่งถือเป็นมาตรฐานกำหนดไว้ชัด ถ้ามีตำแหน่งว่างก็เรียกคนในบัญชีก่อน ยกเว้นมีเหตุผลจริงๆก็พิจารณาเป็นกรณีไป แต่ไม่ใช่ไปแอบลักไก่ทำอะไร หรือกรณีตำแหน่งนั้นจะยุบอยู่แล้วก็ไม่ใช่ไปรับโอนมา เพราะเมื่อก่อนมีกรณีรับโอนคนมาใส่ตำแหน่งไว้รอก่อนแบบนี้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม จากนี้ ก.ค.ศ.จะไปปรับปรุงรายละเอียดตามที่ประชุมเสนอแนะก่อนประกาศและแจ้งไปยังหัวหน้าส่วนราชการ กศจ.สำนักงานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) รับทราบ”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่23 เม.ย. 2562 เวลา 13:27 น.