"สมพงษ์"หนุนเลิกใช้คะแนนโอเน็ตเข้ามหา'ลัย ชี้เป็นวิธีคิดเก่า20ปีที่แล้ว แต่โลกเปลี่ยน-เด็กลด
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"สมพงษ์"หนุนเลิกใช้คะแนนโอเน็ตเข้ามหา'ลัย ชี้เป็นวิธีคิดเก่า20ปีที่แล้ว แต่โลกเปลี่ยน-เด็กลด23เม.ย.62- นักวิชาการ ชี้ ปรับข้อสอบ ระบบ TCAS วัดทักษะอนาคต เป็นเรื่องดี แต่ไม่เพียงพอ ย้ำต้องปรับปรุงทั้งระบบ ตั้งแต่เลิกใช้คะแนนโอเน็ตสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเป็นวิธีคิดแบบเก่า 20ปีที่แล้ว และต้องแก้ไขหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน ตลอดจนหลักสูตรในมหาวิทยาลัย การเตรียมอาจารย์ แนะโลกไม่เหมือนเดิม เด็กลดลง ต้องปรับความคิดใหม่
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงข้อสอบระบบการคัดเลือกกลางเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดจำนวนวิชาและการสอบ โดยข้อสอบที่ปรับปรุงนั้นจะเพิ่มการวัดทักษะในอนาคต เช่น เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความเป็นผู้นำ จิตวิญญาณเพื่อประชาชน เป็นต้น และจะใช้ในปีการศึกษา 2565 ว่า มติดังกล่าวของ ทปอ. แสดงให้เห็นถึงข้อดีของ ทปอ.ที่รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ระบบ TCAS และปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องดีที่มีการปรับปรุงข้อสอบ TCAS ลดความซ้ำซ้อน และการสอบ เพราะเรื่องนี้เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของเด็กและผู้ปกครอง ดังนั้นการปรับปรุงระบบ TCAS ให้ดีขึ้นทุกปีๆ เป็นหลักการที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน ก็เป็นการปรับตัวของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในภาวะวิกฤติ เรื่องจำนวนเด็กเกิดลดลง, จำนวนเด็กหันไปเรียนสายอาชีพมากขึ้น, การเข้ามหาวิทยาลัยมีความสำคัญลดลง และเรื่องการปรับตัวของมหาวิทยาลัยเองเพื่อก้าวเข้าสู่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าการปรับ TCAS ช่วยปลดล็อคการปฏิรูปการศึกษาได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอ ต้องปรับปรุงไปถึงเรื่องการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) กระบวนการเรียนรู้ หลักสูตรขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรในมหาวิทยาลัย การเตรียมอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการแก้ไขทั้งระบบ
"โดยเฉพาะการใช้คะแนนโอเน็ต เพื่อการสอบเข้าในระดับต่างๆ ผมเห็นว่า เป็นการใช้คะแนนโอเน็ต ที่ผิดวัตถุประสงค์ และเป็นแนวคิด ที่อาจจะเหมาะสมในสังคมไทยเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน เป็นความหวังดีที่จะให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนครบหลักสูตร จึงผูกคะแนนโอเน็ตกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และบังคับเด็กด้วยการสอบ แต่ปัจจุบันความต้องการเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กลดน้อยลง เราจึงควรลดความสำคัญของคะแนนโอเน็ตลง หากไม่ต้องใช้เลยได้จะยิ่งดี เพราะถ้าข้อสอบ วัดทักษะในอนาคตสามารถวัดทักษะของเด็กได้จริง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คะแนนโอเน็ต ที่สำคัญเป็นการลดภาระของครูในโรงเรียนลงอย่างมาก"นายสมพงษ์ กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 10:47 น.