ยากกว่าเดิม เกณฑ์เลือกผอ.-รองผอ.รร. ที่ไม่มีการสอบ ใช้ประเมินรอบทิศ360องศา
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ยากกว่าเดิม เกณฑ์เลือกผอ.-รองผอ.รร. ที่ไม่มีการสอบ ใช้ประเมินรอบทิศ360องศา22เม.ย.62- สพฐ. รอ ก.ค.ศ. ทำหลักเกณฑ์ คัดเลือก ผอ.-รองผอ. แทนการสอบ “อัมพร” เผยเบื้องต้น เป็นการประเมินแบบ 360 องศา ทั้งจากบุคคลอื่น เพื่อนร่วมงาน ประวัติ ผลงาน ศักยภาพ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ด้วย ชี้อยากให้เสร็จโดยเร็ว เหตุ มีตำแหน่งรอง ผอ. ว่างอยู่ประมาณกว่า 1,000 อัตรา
นายอัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อบรรจุแต่งตั้งตำแหน่งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาใหม่ ว่า หลังจากที่นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีนโยบายให้การสอบคัดเลือกผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาในรูปแบบที่ไม่ต้องมีการสอบคัดเลือก เพราะการสอบอาจส่งผลให้มีช่องทางทุจริตได้ ดังนั้นในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จัดทำหลักเกณฑ์ให้เสร็จ หลังจากนั้น สพฐ.จะมากำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกเอง ตามมติที่ประชุม ก.ค.ศ. ซึ่ง สพฐ.จะต้องกำหนดตัวชี้วัดและองค์ประกอบอื่นสำหรับคัดเลือกผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาต่อไป สำหรับหลักการคัดเลือกเบื้องต้นจะเป็นการประเมินผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาแบบ 360 องศาไม่ว่าจะเป็นการประเมินตัวบุคคลจากองค์ประกอบอื่นแทนการสอบ เช่น พิจารณาจากประวัติการทำงาน ผลงาน การประเมินศักยภาพจากบุคคลรอบข้างทั้งเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งนอกจากนี้จะมีคณะกรรมการขึ้นในการประเมินอีกด้วย เพื่อป้องกันปัญหาที่จะครหาของการลักลั่นในการประเมินตัวบุคคลเกิดขึ้น
“ในอนาคตจะไม่มีการสอบคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาอย่างแน่นอน และต่อจากนี้ไปการเข้าตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาจะไม่มีการขึ้นบัญชีไว้แล้ว หากโรงเรียนไหนมีตำแหน่งผู้บริหารว่างก็จะเข้าสู่การคัดเลือกด้วยหลักเกณฑ์ใหม่และให้บรรจุทันที เพราะปัญหาที่ผ่านมาตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาว่างเป็นเวลานานก็มาจากการหลักเกณฑ์วิธีการที่ซับซ้อน ส่งผลให้การบริหารโรงเรียนขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นหลักเกณฑ์ใหม่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มการยกระดับคุณภาพการศึกษาอีกวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อยากให้การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการเสร็จโดยเร็ว เพราะเรามีเป้าหมายที่จะใช้หลักเกณฑ์ใหม่กับตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ขณะนี้ว่างอยู่ประมาณกว่า 1,000 อัตรา”รองเลขาฯ กพฐ.กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 09:53 น