ลุ้นพ.ร.บ.การศึกษาชาติคลอดในรัฐบาลนี้
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ลุ้นพ.ร.บ.การศึกษาชาติคลอดในรัฐบาลนี้“วิษณุ”หาทางดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติคลอดรัฐบาลนี้ ส่วน”หมออุดม”แจงร่างดังกล่าวเป็นกฏหมายแม่ หากผ่านช่วยขับเคลื่อนการศึกษาทั้งระบบ
วันนี้ (1เม.ย.)ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติ ของคณะกรรมการการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) แล้วและตามขั้นตอนการพิจารณากฎหมายร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องนำเข้าพิจารณาในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่เนื่องจากมีการปิดประชุม สนช. ตนพร้อมด้วย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ จึงได้หารือกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ผ่านมามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาแล้วหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและ พ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นกรอบใหญ่ในการวางแนวทางปฏิรูปการศึกษามากที่สุดน่าจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีความจำเป็นกับประเทศจริงๆ ถ้ากฎหมายแม่ฉบับนี้ออกมาจะช่วยผลักดัน ขับเคลื่อน วางแนวทางและเป้าหมายในการยกคุณภาพการศึกษาทั้งระบบได้ชัดเจน เป็นแนวทางแบบใหม่ที่เป็นรูปธรรม และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง ซึ่ง ดร.วิษณุ บอกว่าจะหาแนวทางที่จะให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับได้ในรัฐบาลชุดนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ มีการวางกรอบการยกคุณภาพการศึกษาทั้งระบบใหม่ โดยกำหนดเป้าหมายการศึกษาบนฐานสมรรถนะ แบ่งรายละเอียดเป็น 7 ช่วงวัย จัดระบบการศึกษาเป็น 3 ระบบคือ การศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับ การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง และการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งให้หลักการในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไว้ และให้มีการเทียบเคียงเทียบโอนตลอดระบบการศึกษาได้ ศธ.มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน และอุดหนุนการจัดการศึกษา โดยการจัดระเบียบข้าราชการหรือส่วนราชการต้องไม่มีลักษณะที่ทำให้เกิดการจัดการศึกษาแบ่งเป็นส่วนๆไม่ต่อเนื่องให้มีบูรณาการกันและไม่ทำให้สถานศึกษาขาดอิสระ เอกชนมีสิทธิในการจัดการศึกษาทุกระดับ ให้ครูเอกชนได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับครูภาครัฐ ให้มีสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของ ศธ. เพื่อพัฒนาต้นแบบหลักสูตร สื่อ การประเมินผลและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีรูปแบบหลากหลาย ให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระในการปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาได้ เป็นต้น.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2562 เวลา 08.00 น.