อนาคตการศึกษาไทยไม่มีในและนอกระบบ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
อนาคตการศึกษาไทยไม่มีในและนอกระบบกอปศ. ชี้ อนาคตการศึกษาไทยไม่มีในและนอกระบบ ต้องเพิ่มการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นให้มากขึ้น
วันนี้ (18 มี.ค.) นายไกรยส ภัทราวาท กรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ บอร์ด กอปศ. มอบหมายให้ศึกษารายละเอียดการรูปแบบระบบการศึกษาในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ซึ่งมาตรา44 กำหนดให้ระบบการศึกษาเป็น3ระบบ คือ การศึกษาเพื่อคุณวุฒิ การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง และการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต นั้น พบว่า สถานการณ์การศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน กำลังแรงงานที่มีอยู่กว่า40ล้านคน มีคุณวุฒิสูงสุดประมาณ ม.3หรือเทียบเท่า ม.3กว่า60% ขณะที่ประเทศไทยกำลังต้องการพัฒนาประเทศไปสู่ 4.0 ซึ่งกำลังแรงงานกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีทักษะในการประกอบอาชีพที่ค่อนข้างต่ำ หรือ อาจจะยังไม่มีเลย ดังนั้น ถ้าเราจะพัฒนาประเทศไปสู่ 4.0 ก็มีความจำเป็นต้องดูแลคนกว่า60%ของกำลังแรงงานให้พัฒนาตัวเอง แต่การจะให้กลับไปสู่การศึกษาเพื่อคุณวุฒิ หรือ เข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งอาจเป็นเรื่องลำบาก เพราะกำลังแรงงานกลุ่มนี้อายุจะอยู่ในช่วงวัยกลางคนแล้ว เพราะฉะนั้นระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเองและการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตน่าจะมีบทบาทมากขึ้น ภายใต้กรอบการปฏิรูปการศึกษาของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่
นายไกรยส กล่าวต่อไปว่า อีกสิ่งที่พบคือ บัณฑิตที่จบมาช่วงนี้มีตัวเลขการว่างงานค่อนข้างสูง หรือ การจะให้ได้รับระดับเงินเดือนถึง1.5หมื่นบาทก็เป็นเรื่องที่ลำบาก จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งว่าคนที่มีอยู่แล้วในวัยแรงงานกับคนที่ออกจากระบบการศึกษาใหม่นี้ จะต้องมีระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเองและการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตมาช่วย โดยทั้ง3ระบบต้องสามารถโอนย้ายหน่วยกิตกันได้ เพื่อให้คนมีทางเลือกที่หลากหลายในการรับการศึกษา เพื่อนำผลสัมฤทธิ์มาเทียบโอนกันได้และต่อยอดการศึกษาไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งจะส่งผลว่าก่อนจะจบการศึกษาขั้นพื้นฐานผู้เรียนจะมีทักษะพิเศษของตนเองได้
" พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นธรรมนูญการศึกษา ที่กำหนดว่าต่อไประบบการศึกษาของประเทศไทยจะมี 3ระบบใหม่ คือ การศึกษาเพื่อคุณวุฒิ การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง และการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการให้น้ำหนักว่า ต่อไปการศึกษาเพื่อคุณวุฒิไม่ใช่ทางหลักทางเดียวของการเรียนรู้อีกต่อไปแล้ว ในอนาคตความต้องการในตลาดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องให้น้ำหนักที่การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และให้ความสำคัญกับการเทียบโอน ซึ่งเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนรู้มากขึ้น” นายไกรยส กล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2562 เวลา 05.56 น.