สัปดาห์หน้า สพฐ.คลอดประกาศรับนักเรียน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สัปดาห์หน้า สพฐ.คลอดประกาศรับนักเรียนคาดสัปดาห์หน้า สพฐ.ประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562 เชื่อโรงเรียนพร้อมปรับแผนการรับเด็กแล้ว “บุญรักษ์”ไม่ติดใจเปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็น ครูใหญ่
วันนี้ (21 ก.พ.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562 ของสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ฉบับใหม่ ว่า ตนได้พิจารณาร่างประกาศฯที่ได้ปรับปรุงตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบ แทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว และจะนำเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งกำกับดูแลฝ่ายนโยบาย พิจารณารายละเอียดและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งคาดว่า จะประกาศหลักเกณฑ์การรับนักเรียนใหม่ได้ภายในสัปดาห์หน้า
“ การรับสมัครนักเรียน ชั้น ม. 1 และ ม. 4 ปีการศึกษา 2562 จะเริ่มรับสมัครในวันที่ 22-27 มีนาคม 2562 เว้นวันที่ 24มีนาคม โดยลดเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ ที่เดิมมี 7 ข้อ ลดเหลือ 4 ข้อ และ ให้รับนักเรียนชั้น ม.3 ที่ประสงค์เรียนต่อชั้น ม.4 ในโรงเรียนเดิมเข้าเรียน หากมีที่เหลือจึงเปิดสอบคัดเลือกเด็กทั่วไป ซึ่งถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่ประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ แต่เชื่อว่าโรงเรียนก็เตรียมความพร้อมปรับแผนการรับนักเรียนกันแล้ว เพราะทราบมติของ กพฐ. ดีอยู่แล้ว” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ดร.บุญรักษ์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ และให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่ง ผู้บริหารสถานศึกษา จาก ผู้อำนวยการสถานศึกษามาเป็นครูใหญ่ ว่า ตนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ถือว่าเป็นข้อสรุป เพราะยังเหลืออีกหลายขั้นตอน โดยส่วนตัวเห็นว่าการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งจาก ผู้อำนวยการโรงเรียนมาเป็นครูใหญ่ก็ถือเป็นเรื่องดี สามารถอธิบายบทบาทการทำงานในฐานะผู้ที่รับผิดชอบสถานศึกษาได้ชัดเจน ทั้งนี้ก่อนมีมติดังกล่าวทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เชิญผู้แทนจาก สพฐ. ไปสอบถามความคิดเห็น โดย สพฐ. เองก็ไม่ได้ทักท้วงหรือมีความเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และไม่มีข้อติดใจ เพราะสาระสำคัญของกฎหมายที่แท้จริง อยู่ที่เนื้อหาในกฎหมายที่จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 15.30 น.