ชงแก้ระเบียบ ศธ.เรื่องหักหนี้ ให้ครูมีเงินเหลือพอใช้ไม่น้อยกว่า 30%
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ชงแก้ระเบียบ ศธ.เรื่องหักหนี้ ให้ครูมีเงินเหลือพอใช้ไม่น้อยกว่า 30%สกสค.เดินหน้ามาตรการคุมกำเนิด สกัดครูก่อหนี้สินเพิ่ม พร้อมชงปลัด ศธ.ลงนามแก้ระเบียบหักหนี้ครู ชี้ครูเงินเดือนไม่เท่ากัน บางรายมีเงินเหลือไม่พอใช้ ระยะยาวพึ่งรัฐแก้ปัญหา
วันนี้ (19 ก.พ.) นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ว่า ขณะนี้สกสค. อยู่ระหว่างดำเนินมาตรการคุมกำเนิดหนี้สินครู โดยจะไม่ให้ครูก่อหนี้สินเพิ่ม ทั้งโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.)ซึ่งหยุดที่โครงการช.พ.ค.7 และจะยังไม่เริ่มโครงการช.พ.ค.8 รอเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อน และต่อไปการปล่อยก็จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นวิเคราะห์สินเชื่อเป็นราย ๆ ไม่ได้ดูที่ความต้องการของผู้กู้อย่างเดียว จะไม่ให้กู้ไปใช้ฟุ่มเฟือย
ขณะเดียวกัน เมื่อเร็ว ๆ นี้ยังเสนอให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดศธ. แก้ไข ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จ บำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 กำหนดว่า ตั้งแต่ปี 2555 การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ขณะที่ครูแต่ละคนมีเงินเดือนไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงควรให้ผู้กู้มีเงินเหลือเพียงพอกับการดำรงชีพได้ด้วย เช่น คนที่เงินเดือน 15,000 บาท หากหักแล้วเหลือเงินในบัญชีเพียงร้อยละ 30 หรือ 4,500 ก็จะไม่เพียงสำหรับใช้จ่ายในแต่ละเดือน
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการระยะยาวอาจต้องพึ่งรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาเกิดจากพ.ร.บ.สหกรณ์พ.ศ.2542 ที่กำหนดว่า ต้นสังกัดต้องหักเงินใช้หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นอันดับแรก ซึ่งผู้กู้อาจมีหนี้จากแหล่งอื่นมาก่อน โดยหลักการควรหักเงินชำระหนี้ตามลำดับการกู้ การเขียนกฎหมายไปเขียนก้าวล่วงกฎหมายอื่นอาจเป็นเรื่องไม่สมควร ขณะนี้มีกฎหมายที่กำหนดให้หักเงินเดือนชำระหนี้ก่อนเป็นลำดับแรกอยู่ 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.สหกรณ์พ.ศ.2542 และพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ซึ่งตนเองก็ไม่แน่ใจว่าส่วนราชการจะหักกันอย่างไร ส่วนมาตรการอื่นๆ นั้น พยายามเจรจาขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยกับทางธนาคารออมสิน เพราะขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ห่างกันค่อนข้างมาก
ขณะที่ความคืบหน้ากรณีทวงเงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการช.พ.ค. ที่ทางธนาคารออมสินได้หักไปชำระหนี้แทนครู ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไปนั้น ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น ที่ผ่านมาธนาคารออมสินทยอยคืนเงินมาบ้างแล้ว หลังจากยกเลิกบันทึกข้อตกลงฉบับเดิมและมีมาตรการคืนเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ให้กับครูโดยตรง ทำให้มีครูมาชำระหนี้เพิ่มขึ้น อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือNPL ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้มีครูมาใช้หนี้มาขึ้น ธนาคารออมสินจึงนำเงินที่ครูใช้หนี้มาคืนให้สกสค. ขณะนี้ยอดรวมอยู่ที่ประมาณ 1,100 ล้านบาท แผนต่อไปที่จะดำเนินการคือ ปรับข้อมูลของสกสค. และธนาคารออมสินให้ตรงกัน จากนั้นจะส่งให้สกสค.จังหวัด และให้ธนาคารออมสินออกหนังสือทวง คาดว่าจะเริ่มทวงจากรายที่มีหนี้น้อยกว่า เพื่อไม่ให้เสียประวัติ
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 19 ก.พ. 2562 เวลา 15:36 น.