สะเทือนอารมณ์เรียงความเด็ก 9 ขวบวอนพ่อเลิกติดมือถือ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สะเทือนอารมณ์เรียงความเด็ก 9 ขวบวอนพ่อเลิกติดมือถือเด็กชายเขียนเรียงความร่ำร้องให้พ่อสนใจลูกมากกว่ามือถือ ครูให้คะแนนเต็มและนำมาโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นไวรัล
ครูที่โรงเรียนนานาชาติลั่วหยาง เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน นำเรียงความของนักเรียนชายวัย 9 ขวบมาโพสต์บนเว่ยป๋อ เวบไซต์สังคมออนไลน์ยอดนิยมของจีน เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่าานมา
เรียงความที่ใช้หัวเรื่องว่า “พ่อ,ผมอยากบอก” เด็กชายที่สื่อจีนเผยชื่อว่า เสี่ยวจือ เขียนบรรยายว่าพ่อของเขาติดมือถือขนาดจ้องทุกวัน และทั้งวันทั้งคืน ราวกับว่าไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้หากขาดสิ่งนี้
“พ่อครับ ทุกครั้งที่ผมขอให้พ่อตรวจการบ้าน พ่อจะแค่มองแวบเดียว และบอกว่า ก็ดีนี่ ไปเล่นได้ หรือไม่อย่างนั้น พ่อก็จะยื่นโทรศัพท์ให้ผมเพื่อจะได้เล่นมือถือได้เหมือนกัน”
ลูกชายเปรียบเทียบพ่อของตัวเองว่า เหมือนสุนัขป่าอดข้าวสามคืนสามคืน จ้องเนื้อก้อนโตตาวาว และเปรียบอีกว่า ราวกับโทรศัพท์มือถือมีเครื่องดูดฝุ่นดูดพ่อเข้าไป
“พ่อ สิ่งที่ผมอยากได้ หาใช่บ้านเต็มไปด้วยของอร่อย มือถือรุ่นล้ำที่สุด และไม่ใช่ของเล่นราคาแพง ผมต้องการแค่พ่อที่วางมือถือ และเล่นกับผม นั่นจะเป็นสิ่งดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของผมเลยทีเดียว
“พ่อ หากวางมือถือ ผมพร้อมจะแลกชีวิตกับมันเลย ผมรักพ่อ”
ครูของเด็กชายที่เปิดเผยแค่นามสกุลว่า จ้าว กล่าวว่า เสี่ยวจือ เป็นเด็กเรียนดีและยังเป็นแชมป์วิ่งระยะไกลของชั้น เรียงความที่ลูกศิษย์เขียนสำหรับการสอบปลายภาค ทำให้เธออึ้งกับความปรารถนาเดียงสาของเด็กคนหนึ่ง และความสามารถในการเรียงร้อย จนเธอให้คะแนนเต็ม
นอกจากนี้ เรียงความของเด็กชาย ยังเป็นจุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์ของพ่อลูกด้วย
มารดาของเสี่ยวจือ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ต้าเหอ เดลีย์ ว่า สามีของเธอติดมือถือมาก แม้หลังเลิกงานก็ยังทำงานผ่านมือถือ บางครั้งก็ใช้เล่นเกมเพื่อผ่อนคลายด้วย ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยคิดว่าการใช้มือถือทั้งวันเป็นปัญหา เราไม่ได้ตระหนักเลยว่าลูกของเราสะเทือนใจมาก
หลังจากที่ได้อ่านเรียงความของลูก พ่อรู้สึกผิดที่ใช้เวลากับลูกชายน้อยเกินไป และสัญญาจะใช้เวลาวันหยุดทุกสัปดาห์กับลูกชาย
ชาวเน็ตหลายคนสะเทือนใจกับคำวิงวอนอย่างบริสุทธิ์ของเด็กชาย แต่หลายคนก็ปลอบคุณพ่อว่าไม่ควรรู้สึกผิด อย่าง เม่ง ลี เฉิง ผู้ใช้เว่ยป๋อ เขียนว่า หนึ่งเรื่องราวมักมีสองมุมมองเสมอ อย่างเขาใช้โทรศัพท์ทำมาหากิน หากไม่มีอุปกรณ์นี้ก็ไม่มีเงินไปซื้อข้าวกิน ขณะบางคนก็รู้สึกวิตก กับการที่เด็กเขียนขนาดว่า แลกชีวิตกับมือถือ สะท้อนว่านี่คือปัญหาร้ายแรง พ่อต้องวางมือถือทันที และต้องสอนให้เด็กรู้จักคุณค่าของชีวิต
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 27 มกราคม 2562