มองย้อนหลังไปการศึกษาไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
มองย้อนหลังไปการศึกษาไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?เนื่องในวันครู 16 มกราคม 2562 อยากถ่ายทอดมุมมองด้านการศึกษาในบ้านเราจากมุมคิดส่วนตัวที่เติบโตมากับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในประเทศ อีกทั้งยังทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยมากว่า 20 ปี พบว่า การจัดการศึกษาของบ้านเราถูกเปลี่ยนปรัชญาเปลี่ยนเป้าหมายไปนานแล้ว จึงส่งผลให้เกิดสภาพภาวะวิกฤติทั้งระบบในปัจจุบัน
เดิมทีในยุคเริ่มต้นของการจัดให้มีสถานศึกษาทุกระดับ เพราะเราเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยพัฒนาคนเพื่อให้คนที่สำเร็จการศึกษาออกไปพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้นจึงได้เปิดการเรียนการสอนในศาสตร์หรือสาขาวิชาต่างๆที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในเวลานั้น แม้ว่าจะไม่มีความพร้อมด้านองค์ความรู้หรือบุคลากรที่จะมาเป็นครูอาจารย์แต่ก็หาหนทางจนสามารถสร้างคนที่มีศักยภาพออกไปพัฒนาประเทศชาติได้
หนึ่งในวิธีหาทางแก้ไขความขาดแคลนสถานศึกษาและบุคลากรในยุคแรก คือการให้เอกชนสามารถจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาได้เพื่อช่วยแบ่งเบาการจัดการศึกษาของภาครัฐ และต้องยอมรับว่าการจัดการศึกษาในยุคเริ่มแรกนั้น ผลิตคนในศาสตร์ที่ยังขาดแคลนหรือยังไม่เคยมีจัดการเรียนการสอนในประเทศของเรา อาทิ นิเทศศาสตร์หรือการสื่อสาร จึงทำให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษามีงานทำเกือบทั้งหมด การมีงานทำและมีเงินเดือนประจำของผู้สำเร็จการศึกษาคือแรงจูงใจที่ดึงแรงงานและลูกหลานจากภาคการเกษตรของบ้านเราให้เข้ามาสู่ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานศึกษาของรัฐและเอกชนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยสิ่งเร้าที่เรียกว่า “ค่าบำรุงการศึกษา” หรือค่าเทอม โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว รายงานประจำปี พ.ศ.2543 ของทบวงมหาวิทยาลัยพบว่า มีมหาวิทยาลัยเอกชน 22 แห่ง วิทยาลัยและสถาบันฯ เอกชนอีก 28 แห่ง รวม 50 แห่ง เมื่อมีความต้องการของผู้เรียน จึงมีการตอบสนอง และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนของปรัชญาการศึกษาที่จะสร้างคนในศาสตร์สาขาวิชาที่จำเป็นต่อการพัฒนาชาติ ไปสู่การผลิตบัณฑิตให้ได้มากที่สุด โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้สำเร็จการศึกษาบางสาขาวิชานั้น “มากเกินความจำเป็น” แล้ว
ในความเป็นจริงแล้วหลายหลักสูตร หลายสาขาวิชาควรจะปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ 20 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะบางสาขาวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ที่ไม่มีการประยุกต์หรือผสานองค์ความรู้ที่ทันต่อการพัฒนาประเทศ เพราะในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกปี แต่เป้าหมายของการจัดการศึกษายังคงเดิมคือ “มุ่งหาผู้เรียนให้ได้มากที่สุด” เพราะนั่นเป็นแหล่งรายได้ที่จะทำให้องค์กรอยู่รอด ไม่เว้นแม้กระทั่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หากติดตามสถานการณ์ของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยจะเห็นได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนผู้เรียนลดลง และถ้าเอาวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ PLC (Product Life Cycle) มองปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ก็จะเห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาไทยทั้งระบบอยู่ในช่วง ถดถอย (Decline) ผู้ที่เรียนทางการตลาดจะรู้ดีกว่าเมื่อผลิตภัณฑ์มาถึงจุดนี้จะต้องทำอย่างไร และนั่นเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยกำลังทำอยู่ในขณะนี้
สภาวะของการศึกษาไทยทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน เพราะต่างก็มุ่งเป้าที่จะรักษายอดผู้เรียนให้ได้ตามที่ต้องการ เพราะเรื่องจริงก็คือ “ผู้เรียน” คือแหล่งรายได้คือแหล่งงบประมาณ ที่จะนำมาบริหารจัดการและทำให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา “มีงานทำ” มีเงินเดือน แม้ว่าจะต้องทุ่มงบประมาณไปกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ปรับปรุงหลักสูตรให้ดูทันสมัยเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ “ลูกค้า” เลือกที่จะมาเรียนกับตน แต่หากมองให้ครบทั้งระบบและดูจากสถิติผู้เรียนแล้วก็พอจะเห็นภาพลางๆว่า “เหนื่อยแน่” เช่นเดียวกับสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคอะนาล็อก หรือ สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล เพราะลูกค้าหรือผู้เรียนในปัจจุบันมีทางเลือกมากกว่า เมื่อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไม่น่าพอใจไม่ตอบโจทย์ ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ หรือสรุปด้วยข้อความที่เข้าใจง่ายๆก็คือ “ลงทุนเรียนจนจบแล้วตกงานจะเรียนไปทำไม” เลิกโทษปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจ อัตราการเกิดของคน หรือแม้แต่เทคโนโลยี แต่น่าจะย้อนกลับไปดูได้แล้วว่าที่จริงแล้วเราควรมีสถาบันอุดมศึกษาไว้เพื่ออะไรกันแน่ครับ
(เรื่อง : อาจารย์กมลวรรธ สุจริต อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่/ภาพ : อินเตอร์เน็ต,oer.learn.in.th)
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ วันที่ 18 มกราคม 2562