LASTEST NEWS

20 ม.ค. 2568(( รวมลิงก์ )) ประกาศตำแหน่งว่างรับย้ายครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านระบบ TRS ประจำปี พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 19 ม.ค. 2568โรงเรียนวัดราษฎร์ปุณณาราม รับสมัครครูอัตราจ้าง วิชาเอกอนุบาลหรือเอกปฐมวัย หรือเอกทั่วไป เงินเดือน 8,000.- บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 27 มกราคม 2568 19 ม.ค. 2568โรงเรียนวัชรวิทยา รับสมัครครูอัตราจ้าง วิชาภาษาอังกฤษ เงินเดือน 12,000.- บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 24 มกราคม 2568 18 ม.ค. 2568"เสมา1" ยืนยันการสอบโอเน็ตมีความจำเป็นแต่ไม่บังคับ "ธนุ" ขานรับไปดำเนินการ 18 ม.ค. 2568สพฐ.เสนอ กพฐ.แก้ไขระเบียบปิด-เปิดภาคเรียน พ.ศ.2549 เลื่อนวันปิดภาคเรียน 18 ม.ค. 2568"สพฐ." เปิดผลสำรวจความคิดเห็น หนุนเลื่อนเปิดภาคเรียนจากเปิด 16 พ.ค.เป็น 1 พ.ค. 18 ม.ค. 2568ด่วน!! มาแล้ว รวมลิงก์อบรม Webinar AI 12 หลักสูตร วันที่ 18 มกราคม 2568 ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับเกียรติบัตร 18 ม.ค. 2568ลิงก์เว็บไซต์ตรวจสอบรายชื่อ การ​ลงทะเบียนเพื่อ"รับเกียรติบัตร" เข้าร่วมอบรม หลักสูตรพัฒนาทักษะดิจิทัล AI 12 หลักสูตร  18 ม.ค. 2568สพฐ.แจ้งโอนจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนพนักงานราชการ (เพิ่มเติม) และค่าตอบแทนพนักงานราชการประจำศูนย์ประสานงานประจำเขตตรวจราชการ ระยะเวลา 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.2568) 18 ม.ค. 256828 คำถามยอดฮิตเรื่องระบบย้าย TRS ที่ครูต้องรู้!

การศึกษาไทยปัญหามากมายรอให้แก้

  • 08 ธ.ค. 2561 เวลา 15:25 น.
  • 3,903
การศึกษาไทยปัญหามากมายรอให้แก้

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

การศึกษาไทยปัญหามากมายรอให้แก้

คอลัมน์ที่นี่แนวหน้า
วิภาวดี หลักสี่

การศึกษาไทยปัญหามากมายรอให้แก้

สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” ขอนำเรื่องราวจากงานเสวนา “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก”ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ร่วมกับภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP)มาบอกเล่าแก่ทุกท่าน เนื่องด้วยเหลืออีกเพียงไม่กี่เดือนก็จะถึงวันเลือกตั้งแล้ว เชื่อว่าหลายองค์กรคงจะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองไปแสดงวิสัยทัศน์ว่าจะขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ เพื่อทำให้สังคมไทยดีขึ้นได้อย่างไร รวมถึงเวทีนี้ด้วยเช่นกัน

ภายในงานเปิดประเด็นโดย สมเกียรติตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI แบ่งปัญหาออกเป็นในระดับช่วงชั้นต่างๆ ได้แก่ 1.ปฐมวัย (ก่อนประถมศึกษา) รัฐบาลไทยลงทุนกับเด็กปฐมวัยน้อยเกินไปทั้งที่มีงานวิจัย เช่น ศ.เจมส์ เฮ็คแมน (Prof.James Heckman)นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศึกษาพบว่า “การลงทุนในเด็กเล็กมีผลตอบแทนสูงที่สุด เฉลี่ยร้อยละ 7-8ต่อปี” เพราะทักษะที่ถูกขัดเกลาตั้งแต่เล็กๆ จะติดตัวไปตลอดชั่วชีวิตของคนคนนั้น

“เป้าหมายอย่างแรกคือลงทุนในพ่อแม่ วิธีหนึ่งที่ภาคสังคมทำได้และถ้าภาคการเมืองสนับสนุนด้วยก็จะไปได้ไกล ก็คือการทำโรงเรียนพ่อแม่ ให้พ่อแม่ได้รู้วิธีและมีทัศนคติที่ดีขึ้นในการดูแลบุตรหลานของตนเอง เรื่องที่สองคือลงทุนครูในศูนย์เด็กเล็กให้มีมาตรฐานสูงขึ้น หมายถึงมีทักษะที่จำเป็น ลงทุนสื่อการเรียนการสอนและของเล่น อย่างที่สามคือลงทุนในศูนย์เด็กเล็กที่ยังมีไม่มากพอ และที่มีคุณภาพก็ยังไม่น่าพอใจ”

ประการต่อมา 2.การศึกษาขั้นพื้นฐาน (ตั้งแต่ ป.1 – ม.3 รวมถึงสายสามัญ ม.4 – ม.6) ปัญหาของช่วงชั้นนี้ไม่เกี่ยวกับงบประมาณ “ประเทศไทยนั้นใช้จ่ายงบด้านการศึกษาลงไปกับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสัดส่วนสูงมาก แต่อยู่ที่การบริหารจัดการ” เช่น สารพัดการประเมินที่ทำให้ครูไม่มีเวลาอยู่ในห้องเรียน ดังที่มีข้อค้นพบว่า ใน 1 ปีการศึกษาที่มีจำนวน 200 วันนั้นครูเสียเวลา 84 วัน ไปกับภารกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่การสอนหรือการเตรียมการสอน

ขณะที่โรงเรียนนั้นไม่มีอิสระในการบริหาร ต้องทำตามส่วนกลางอย่างเคร่งครัดไป เช่น เมื่อระบุว่างบประมาณซื้อตำราก็ต้องซื้อตำราเท่านั้น ไม่สามารถนำไปสนับสนุนงานด้านอื่นๆ ของโรงเรียนได้เพราะจะผิดระเบียบราชการ แม้ว่าในเวลานั้นตำราเรียนที่มีก็ยังพร้อมใช้งานอยู่ไม่จำเป็นต้องซื้อเลยก็ตาม ทางออกคือต้องกระจายอำนาจซึ่งทำได้หลายรูปแบบ อาทิ ทำโรงเรียนที่พร้อมให้เป็นนิติบุคคลดูแลตัวเอง หรือโอนย้ายไปขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือเน้นการให้งบใช้จ่ายทั่วไปที่ยืดหยุ่นกว่างบเจาะจง

3.อาชีวศึกษา (ปวช. - ปวส.) แม้รัฐบาลจะบอกว่าอยากให้อาชีวศึกษามีเกียรติมีศักดิ์ศรี แต่ก็พบว่า“สื่อการเรียนการสอนมักอยู่ในสภาพเก่าล้าสมัยไม่สอดคล้องกับภาคการผลิตจริง” ปัญหาคือรัฐบาลไทยลงทุนฝั่งอาชีวศึกษาน้อยเกินไป แต่มีทางออกที่เหมาะสมคือ “ต้องส่งเสริมให้สถาบันอาชีวศึกษาต่างๆ จับมือกับสถานประกอบการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาคีให้มากขึ้น” เรียนทฤษฎีในห้องเรียนแล้วไปฝึกปฏิบัติในที่ทำงานจริง

“ถ้าจะให้อาชีวะไทยเท่าสิงคโปร์ TDRI เคยวิจัยแล้วพบว่าต้องลงทุนเพิ่มปีละ 4 หมื่นล้านบาท เป็นเงินมหาศาล อาจจะทำได้ไม่พร้อมกันทั้งประเทศ อาจจะเริ่มทำเป็นบางแห่งก่อน ที่สำคัญคือต้องทำให้อาชีวะทวิภาคีแพร่หลาย วิธีหนึ่งคือตั้งสภาอาชีวะทวิภาคีที่มีกรรมการจากรัฐและเอกชน แต่ให้เอกชน เช่น สภาหอการค้าสภาอุตสาหกรรม นำแล้วให้หน่วยงานรัฐหนุนเสริม เข้าไปช่วยจัดงบประมาณ”

ประการที่ 4.ระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) และการเรียนรู้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างหลังนั้นจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วและมนุษย์มีอายุขัยยืนยาวขึ้น หากไปดูเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างสิงคโปร์ มีหลักสูตรให้ประชาชนเรียนรู้ต่อเรื่อง 24,000 หลักสูตร ส่วนไทยมีเพียง 3,000 หลักสูตร นอกจากนี้สำหรับประเทศไทยยังไม่เอื้อต่อการที่คนวัยทำงานจะไปเรียน

ยังไม่นับว่าจำนวนมากเน้นเพียงทักษะพื้นฐานที่มีแนวโน้มถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งสิงคโปร์นั้นมีการลงทุนแจกคูปองคนละ 500 เหรียญสิงคโปร์ให้ประชาชนนำไปแลกคอร์สเรียนสิ่งต่างๆ ที่แต่ละคนอยากรู้ ส่วนมหาวิทยาลัยไทยก็ต้องมีความเป็นอิสระมากขึ้น การควบคุมมากเกินไป ดังล่าสุดกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องเปิดเผยทรัพย์สินนั้นอาจทำให้สูญเสียบุคลากรที่มีศักยภาพไป

ส่วนในช่วงให้ตัวแทนพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นนั้น หลายพรรคจะเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ 1.กระจายอำนาจ ให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหาร เช่น กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยกตัวอย่างการทดลองกับโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.พิษณุโลก นำครูชาวฟิลิปปินส์เข้าไปสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาล 1 พบว่าหลายปีผ่านไปพัฒนาการของเด็กทั้งโรงเรียนด้านภาษาอังกฤษดีขึ้น ซึ่งปัจจัยมาจากการเรียนแบบเน้นสื่อสารจริงๆ แต่ครูภาษาอังกฤษชาวไทยนั้นทักษะยังไม่ดีเท่าที่ควร

เช่นเดียวกับ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ตัวแทนจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ยกตัวอย่างโรงเรียนในพื้นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีการทดลองนำฝรั่งตะวันตกเข้าไปสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน ก็พบว่าเด็กในโรงเรียนใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น ฉะนั้นต้องกระจายอำนาจด้านการจัดการศึกษา เพราะที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจสั่งการโรงเรียนมากเกินไป

รวมทั้ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่ยกตัวอย่าง บ้านสามขา จ.ลำปาง ซึ่งโรงเรียนและชุมชนพยายามค้นหาความรู้ที่จะทำให้ผู้คนมีอาชีพที่มั่นคง ไม่ต้องออกไปหางานทำในเมืองแล้วทิ้งคนชราไว้อยู่ลำพัง เช่น การเก็บรักษาเห็ดป่าที่ชาวบ้านเข้าไปหามาได้ทำอย่างไรจะเก็บได้นาน หรือจะทำอย่างไรให้จำนวนเห็ดพอเพียงกับทุกครอบครัว

กับ 2.การทำให้กระทรวงศึกษาธิการปลอดการเมือง เรื่องนี้ เอนก จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย และ กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เสนอแนะว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ควรอยู่ในเงื่อนไขโควตาทางการเมือง คนที่มาเป็นรัฐมนตรีต้องเป็นผู้เข้าใจงานด้านการศึกษา และมีเวลาทำงานอย่างต่อเนื่องอย่าเป็นแบบที่ผ่านมาที่ 20 ปี มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการถึง 21 คน

นอกจากนี้ยังมีความเห็นในประเด็นอื่นๆ เช่นสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มองว่าการศึกษาไม่ใช่งานของกระทรวงศึกษาธิการฝ่ายเดียวต้องรวมเป็นกลุ่มกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน พะโยม ชิณวงศ์ ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นห่วงการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยสำหรับคนวัยทำงาน เพราะไม่ค่อยถูกพูดถึงหากเทียบกับการศึกษาในระบบ และ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ เห็นว่าต้องแก้ไขวัฒนธรรมบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างคนที่สามารถคิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์

ทั้งหมดนี้คือปัญหาและข้อเสนอจากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งไม่ว่าพรรคไหนจะได้รับการเลือกตั้ง ประชาชนก็อย่าลืมไปทวงถามติดตามด้วยแล้วกัน!!!

ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันเสาร์ ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2561, 02.00 น.
 
  • 08 ธ.ค. 2561 เวลา 15:25 น.
  • 3,903

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^