กอปศ.-คุรุสภายกเครื่องจรรยาบรรณครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
กอปศ.-คุรุสภายกเครื่องจรรยาบรรณครูกอปศ.จับมือ คุรุสภา ปรับปรุงจรรยาบรรณวิชาชีพครู ชี้ 9 ข้อที่กำหนดไว้ล้าสมัย เล็งเพิ่มข้อห้าม หวังป้องกันความรุนแรง ลดความขัดแย้งระหว่างครูกับนักเรียได้จริง
วันนี้ (4 ธ.ค.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยผลการประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้รับทราบสรุปผลการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาที่ กอปศ.ได้จัดรับฟังความเห็นจากนักเรียนและกลุ่มต่างๆไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้จัดกลุ่มปัญหาและระดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา ซึ่งพบปัญหาสำคัญประการหนึ่ง คือ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่ง กอปศ. จะร่วมกับ นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา นำผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นไปสู่การปรับปรุงจรรยาบรรณวิชาชีพครูให้มีความชัดเจนและเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น โดยขณะนี้ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ.2556 มีจรรยาบรรณวิชาชีพครู 9 ข้อ ซึ่งเขียนไว้อย่างกว้างๆ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และมีข้อห้าม เช่น ข้อห้ามที่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือ ขัดแย้งระหว่างครูกับนักเรียน ข้อห้ามการลงโทษทางกาย และข้อห้ามทางศีลธรรม เป็นต้น
“ ครู เป็นผู้ที่มีอิทธิพลเหนือนักเรียน เป็นผู้ให้คุณให้โทษได้ ดังนั้น ครูมีโอกาสหรือมีความเสี่ยงที่ครูจะใช้อิทธิพลในการคุกคามนักเรียน ดังนั้น ครูกับนักเรียนจะอยู่ในห้องเรียนแล้วใส่กลอนประตูไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้ เป็นต้น ซึ่งผมเห็นว่าควรมีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนไม่ใช่เขียนไว้กว้างๆ แล้วให้มาตีความกันในภายหลัง ทั้งนี้ กอปศ. เห็นความสำคัญของเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นคุณภาพการศึกษาชนิดหนึ่ง รวมถึงการดูแลนักเรียน นักศึกษาระหว่างเดินทาง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องมาพิจารณากัน”ศ.นพ.จรัส กล่าว
ด้าน นางวัฒนาพร กล่าวว่า เรื่องความสัมพันธ์หรือการปฏิบัติตนของครูกับนักเรียน มีจรรยาบรรณวิชาชีพครู 9 ข้อเป็นกรอบการปฏิบัติอยู่แล้ว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนก็มีรายละเอียดพฤติกรรมที่มากกว่าสมัยก่อน เพราะฉะนั้นจรรยาบรรณ 9 ข้อที่มีอยู่ทุกวันนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ใช้วิธีการตีความจรรยาบรรณที่เขียนไว้กว้างๆ ว่าสิ่งที่ครูกระทำผิดหรือไม่ผิดอย่างไร ดังนั้น คุรุสภาจึงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงจรรยาบรรณวิชาชีพให้มีความชัดเจนเหมาะสมกับยุคสมัย มีบทป้องปราม มีบทลงโทษ และอาจจะมีรายละเอียดขอบข่ายของการปฏิบัติของครูให้ชัดเจน โดยจะนำข้อเสนอแนะของ กอปศ. และผลการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษามาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงจรรยาบรรณวิชาชีพครูต่อไป.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 4 ธันวาคม 2561 เวลา 13.31 น.