เร่งหาแนวทางช่วยครูเอกชนเงินเดือนต่ำ-สวัสดิการไม่เพียงพอ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เร่งหาแนวทางช่วยครูเอกชนเงินเดือนต่ำ-สวัสดิการไม่เพียงพอเมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (เลขาฯ กช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานที่เป็นจุดเน้นทิศทางการดำเนินการเรื่องการศึกษาเอกชนต่างๆ ให้ที่ประชุมรับทราบ พร้อมทั้งหารือถึงการตั้งคณะอนุกรรมการ กช.ชุดใหม่ เนื่องจากคณะอนุกรรมการ กช.ที่มีอยู่ 8 คณะนั้นก็เป็นคณะอนุกรรมการที่บอร์ด กช.ชุดเก่าได้แต่งตั้งขึ้น ซึ่ง รมว.ศธ. จึงมอบหมายให้คณะกรรมการ กช.ชุดใหม่ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 8 คณะใหม่ทันที โดยหลังจากนี้เราจะกลับไปฟอร์มทีมและสรรหาประธานแต่ละคณะต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับภาระกิจงานในการแต่งตั้ง เช่น มีคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากร คณะอนุกรรมการฝ่ายทบทวนกฎหมาย เป็นต้น ทั้งนี้ รมว.ศธ. ได้มอบหลักการของแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กช.แต่ละด้านด้วยว่า ขอให้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้กับการพัฒนาการศึกษาเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นคณะอนุกรรมการด้วย
“ นอกจากนี้ สช.ยังได้เสนอที่ประชุม เพื่อขอใช้งบประมาณกลางในการช่วยโรงเรียนเอกชนที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ประมาณ 7 ล้านบาท ซึ่ง สช.ได้ใช้งบประมาณส่วนหนึ่งช่วยเหลือไปแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ โดยที่ประชุมแนะนำให้ สช.กลับไปทบทวนว่าสามารถปรับแผนใช้งบประมาณเป็นการภายในก่อนได้หรือไม่ ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้หารือถึงใบอนุญาตประกอบปฏิบัติการสอน 2 ปี หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอนชั่วคราวของครูโรงเรียนเอกชน ซึ่งคุรุสภาให้ผ่อนผันได้คราวละ 2 ปีจำนวน 3 ครั้ง ซึ่ง รมว.ศธ. มีความเห็นว่าผู้ที่เป็นครูมาแล้ว 6 ปีและมีผลงานประเมินยอดเยี่ยม อยากให้คุรุสภาเปิดโอกาสให้แก่ครูเหล่านี้ให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วย” เลขาฯ กช.กล่าว
นายชลำ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงประเด็นโรงเรียนเอกชนภาคใต้ที่มีการเบิกจ่ายเงินเดือนให้ครูเอกชนได้ต่ำกว่าอัตราที่กำหนด คือ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่โรงเรียนพื้นที่ภาคใต้อย่างเดียว แต่เป็นภาพรวมของทุกพื้นที่ โดย รมว.ศธ. ได้มอบให้ สช.ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และเสนอแนวทางการแก้ไขให้ รมว.ศธ. รับทราบภายใน 2 สัปดาห์ ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้หารือถึงสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชนด้วย เนื่องจากขณะนี้เงินกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนมีไม่เพียงพอต่อการจัดสวัสดิการให้แก่ครูเอกชน เพราะมีทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร เนื่องจากปัจจุบันสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของครูเอกชนได้สิทธิคนละ 1 แสนบาทต่อคนต่อปี ดังนั้นตนจะประสานเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานประกันสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนต่อไป
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เวลา 20:11 น.