บอร์ดอิสระถกมาตรฐานอาชีวศึกษา แก้ครูขาดความเชี่ยวชาญ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
บอร์ดอิสระถกมาตรฐานอาชีวศึกษา แก้ครูขาดความเชี่ยวชาญเมื่อวันที่ 20 พ.ย.นางสาวดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า ในที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มานำเสนอสภาพปัญหาแนวทางและยุทธศาสตร์ของ สอศ. ซึ่งที่ประชุมได้หารือในประเด็นสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการผลิตและพัฒนาครูอาชีวศึกษา รวมถึงมาตรฐานของครูอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการอาชีวศึกษา เพราะถ้าเปลี่ยนครูไม่ได้ก็ไม่สามารถปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนได้จะเป็นปัญหาในอนาคต ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระฯ ได้แนวคิดที่จะนำไปสู่การปฏิรูปอาชีวศึกษา และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญที่ต้องตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติในการผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษา
ด้านนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา กล่าวว่า สิ่งที่ สอศ.นำเสนอสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปอาชีวศึกษาที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษาที่มีศักยภาพในเชิงปฏิบัติ และการมีความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต ทั้งยังมีการหารือถึงเรื่องมาตรฐานครูอาชีวะที่ให้ความสำคัญใน 2 ด้าน คือ สมรรถนะด้านความรู้ในการสอนอาชีวศึกษา และสมรรถนะทางความเชี่ยวชาญที่เป็นประสบการณ์ทางวิชาชีพ ในส่วนความเชี่ยวชาญที่เป็นประสบการณ์ทางวิชาชีพ ครูอาชีวะยังขาดอยู่มาก ดังนั้น คณะกรรมการอิสระฯ จึงอยากเห็นครูอาชีวะได้มีโอกาสเข้าไปฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการยินดีที่จะรับครูเข้าไปฝึกปฎิบัติอาจจะใช้เวลา 3 เดือน และครูจะได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติกับเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ สิ่งที่อยากเห็นในการปฏิรูปคือ ครูมีใบประกอบวิชาชีพครูด้านอาชีวศึกษา ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรฐานครูอาชีวศึกษาที่คณะกรรมการอิสระฯ จะจัดทำขึ้นจะเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้ครูอาชีวะมีสมรรถนะและส่งเสริมให้เด็กมีคุณภาพมากขึ้น
ด้าน นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า ตนได้มีการเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมถึงแนวคิดใหม่ๆ ที่จะนำมาพัฒนาระบบอาชีวศึกษา ซึ่งมีการกำหนดไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คือ การเป็นอิสระของสถานศึกษาหรือการมีรูปแบบใหม่ๆในการจัดการอาชีวศึกษา อาทิ การให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนประชารัฐหรือโรงเรียนร่วมพัฒนา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดการอาชีวศึกษามีกฎหมายเฉพาะ ดังนั้นคงต้องดูความเป็นไปได้ หรือการนำแนวคิดดังกล่าวไปบูรณาการในร่างกฏหมายที่จะมีการปรับปรุงต่อไป
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 เวลา 19.24 น.