ทำไมทักษะภาษาอังกฤษไทย ย่ำแย่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8?
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ทำไมทักษะภาษาอังกฤษไทย ย่ำแย่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8?พาดหัวข่าวบอกว่าการสำรวจระดับสากลล่าสุดบอกว่า คะแนนทักษะภาษาอังกฤษเฉลี่ยของคนไทยยังแย่ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 8 แล้ว เป็นข่าวที่คนไทยควรต้อง "ตระหนก" กันทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่คงจะแค่ "ตระหนัก" เท่านั้น
ความตระหนักไม่ช่วยแก้ปัญหาเพราะนานๆ เข้าก็กลายเป็นเรื่อง "ก็เป็นที่รู้ๆ กัน" แต่ไม่มีใครลงมือทำให้ปัญหานั้นหายไปได้ ข่าวบอกว่าดัชนีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษนานาชาติชี้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยยังคง "ย่ำแย่" และอยู่ในระดับเดิมเป็นเวลาถึง 8 ปีซ้อน
สื่อไปถามผู้เชี่ยวชาญก็จะได้รับคำตอบเดิมๆ ว่าเพราะการเรียนการสอนของเราล้าหลัง เน้นแต่ท่องจำและสอนแต่ไวยากรณ์เป็นหลัก
เราได้ยินได้ฟังข้อเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมาหลายสิบปีแล้ว ทำไมปัญหายังแก้ไม่ได้?
งานวิจัยหัวข้อนี้มีมากมาย ข้อสรุปและข้อเสนอก็มีเป็นปึกๆ แต่ไฉนจึงยังวนเวียนอยู่เช่นนี้
นั่นคือคำถามที่ต้องหาคำตอบให้ได้
หาไม่แล้วเราก็จะวกวนอยู่กับปัญหา และข้อเสนอทางออกเดิมๆ แต่ท้ายที่สุดเราก็ยังย่ำอยู่กับที่ คำถามต่อมาก็คือว่า ทำไมประเทศเพื่อนบ้านเราจึงสามารถยกระดับคะแนนทักษะภาษาอังกฤษได้ แต่เราทำไม่ได้
รายงานประจำปี 2561 ของสำนักงานจัดอันดับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ หรือ Education First (EF) ที่มีสำนักงานใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่าไทยอยู่ในอันดับ 64 จาก 88 ประเทศทั่วโลกที่ไม่ได้ใช้อังกฤษเป็นภาษาหลัก และได้คะแนนเพียง 48.54 จาก 100 คะแนน
เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ไทยได้คะแนนในอันดับ 6 จาก 8 ประเทศอาเซียนที่ทำการสำรวจ เรียงตามลำดับ คือ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย เมียนมา และกัมพูชา
รายงานเดียวกันนี้บอกว่า สวีเดนมีคะแนนสูงสุดในบรรดาประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ประเทศที่คะแนนต่ำสุดก็คือ ลิเบีย
ผลจากคะแนนสอบนำมาจัดหมวดหมู่เป็น 5 ระดับ คือ สูงมาก สูง ปานกลาง ต่ำ ต่ำมาก
คะแนนของไทยถูกจัดอยู่ในระดับ "ต่ำ" และโปรดทราบด้วยว่าไทยเราอยู่ในระดับนี้ตั้งแต่ EF ออกรายงานฉบับแรกในปี 2554 หรือ 8 ปีแล้ว
นอกจากนี้ EF ยังให้ข้อมูลเปรียบเทียบทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของผู้หญิงว่า คะแนนของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงมีเฉลี่ย 54.57 และผู้ชาย 52.63 จากผู้ทดสอบทั้งสิ้น 1.3 ล้านคนทั่วโลก คะแนนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ผมอ่านข่าวนี้แล้วอยากรู้ว่าเขาทดสอบอย่างไร ก็ได้ความว่าเป็นการทดสอบแบบออนไลน์สำหรับคนทั่วไป โดยวัดผลจากทักษะการฟังและการอ่าน
EF บอกว่าการสำรวจอย่างนี้อาจส่งผลให้ภาพรวมคะแนนออกมามากกว่าปกติ เพราะไม่ได้เข้าถึงกลุ่มคนยากไร้หรือคนที่ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผมพูดคุยกับผู้รู้หลายคน เห็นตรงกันว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ต้อง "รื้อทั้งระบบ" และต้องกล้าคิดนอกกรอบจริงๆ เช่นยกเลิกการสอบในวัยเด็ก
ให้สอนการสนทนาและการสื่อสารก่อน ไวยากรณ์ให้สอนให้วัยโตแล้ว และไม่ให้ความสำคัญมากเกินความจำเป็น มุ่งเน้นใช้งบประมาณสร้างคุณภาพครูและนักเรียน ไม่ทุ่มเงินไปสร้างตึกหรือการบริหารระบบราชการที่คร่ำครึ
ว่ากันว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ได้เสนอการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เป็นไปในทางที่เน้นให้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร หรือที่เรียกว่า communicative language teaching
แต่เอาเข้าจริงๆ ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นไปตามนั้น เพราะครูยังคุ้นชินกับวิธีการสอนที่เน้นโครงสร้างหลักไวยากรณ์เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้มาตลอดไม่ว่าจะครูรุ่นใหม่หรือเก่าก็ตาม
ผมสังเกตว่าครูและข้าราชการของเราไปดูงานต่างประเทศเรื่องสอนภาษาอังกฤษมากมาย รวมถึงตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาของหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่นฟินแลนด์
แต่ทำไมเราไม่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อยกระดับการศึกษาของเราได้?
คำตอบคือการดูงานก็คือการดูงาน กลับมาก็ยังทำงานเหมือนเดิมเพราะกฎกติกาแก้ไขไม่ได้ กระบวนคิดหรือ mindset ก็ไม่เปลี่ยน
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยพูดไว้น่าฟังว่า
"ถ้าคุณทำอะไรเหมือนเดิม แล้วคาดหวังว่าผลที่ออกมาจะต่างไปจากเดิม คุณก็บ้าแล้ว"
ผมจึงเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนเรื่องนี้เหมือนกับหลายเรื่องที่ต้องยกเครื่องกันครั้งใหญ่
นั่นคือ "การทำลายอย่างสร้างสรรค์" หรือ creative destruction
นักการเมืองที่อาสาประชาชนมาบริหารประเทศในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น ต้องตอบคำถามประชาชนว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ อย่างไร.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 เวลา 00:01 น.