มหา'ลัยทั่วประเทศมีมติป.ป.ช.ทบทวนนายก-กรรมการสภาฯ ต้องยื่นทรัพย์สิน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
มหา"ลัยทั่วประเทศมีมติป.ป.ช.ทบทวนนายก-กรรมการสภาฯ ต้องยื่นทรัพย์สินมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีมติเห็นด้วยตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ แต่มีมติป.ป.ช.ทบทวนนายก-กรรมการสภาฯ ต้องยื่นทรัพย์สิน เหตุทำหน้าที่ด้านวิชาการ-ไม่เกี่ยวข้องจัดจัดซื้อจัดจ้าง
วันนี้(7 พ.ย. ) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ ตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจาบุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภาฯ รวมถึงคู่สมรสและบุตรด้วย ส่งผลกระทบทำให้นายกสภา -กรรมการสภาฯหลายแห่งเริ่มทยอยลาออก เนื่องจากไม่อยากวุ่นวายเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยในหลักการป้องกันและตรวจสอบที่ไม่ให้มีการทุจริตในภาครัฐ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ อธิการบดี และรองอธิการบดีจึงควรยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.ตามที่กำหนด แต่นายกสภาฯ และกรรมการสภาฯซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านวิชาการเป็นหลัก ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐโดยตรง อันจะทำให้เกิดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่จึงไม่ได้มีส่วนได้ ส่วนเสียในการบริหาร หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จึงไม่มีความจำเป็นที่จะกำหนดให้นายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ผลกระทบจากประกาศฉบับนี้ ทำให้นายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ บางแห่งไม่ประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพราะการยื่นบัญชีทรพย์สินแม้ว่าจะเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพื่อธรรมาภิบาลแต่ก็เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่ต้องยื่นทรัพย์สินมากเกินควร รวมทั้งต้องยื่นทรัพย์สินของคู่สมรสและบุตรด้วย ขณะเดียวกันระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ เพียง 60 วัน ไม่เพียงพอต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้องและครบถ้วนได้ หากยื่นบัญชีผิดพลาดแม้ไม่ได้เจตนาก็อาจมีโทษทางอาญาและถูกศาลพิพากษาจำคุกได้ จึงได้มีนายกสภาฯ และกรรมการสภาฯบางแห่งยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว ส่งผลกระทบให้สภามหาวิทยาลัย ไม่ครบองค์ประชุม จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ส่งผลเสียต่อการบริหารงานในมหาวิทยาลัยและนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ดังนั้นมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีมติเสนอให้ป.ป.ช.พิจารณาทบทวนประกาศ ดังกล่าวให้มีความเหมาะสมกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย จากนี้จะทำหนังสือถึงป.ป.ช.และเตรียมจะเข้าไปหารือกับประธานป.ป.ช.อย่างเป็นทางการต่อไป
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2561 เวลา 18.48 น.