พ.ร.บ.เด็กปฐมวัยไทยฉบับแรกไม่มีสอบเข้าป.1ฝ่าฝืนปรับ5แสน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
พ.ร.บ.เด็กปฐมวัยไทยฉบับแรกไม่มีสอบเข้าป.1ฝ่าฝืนปรับ5แสนพ.ร.บ.เด็กปฐมวัยไทยฉบับแรกไม่มีสอบเข้าป.1ฝ่าฝืนปรับ5แสน : รายงาน
ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ไม่มีสอบเข้า ป.1 ฝ่าฝืนถูกปรับไม่เกิน 5 แสนบาท พร้อม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ยกระดับการวิจัยพัฒนาและการสร้างนวัตกรรมของประเทศให้เท่าเทียมกับต่างประเทศ
ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะกรรมการคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหาสาระกำหนดไว้ว่าคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นผู้กำหนดแนวทางการรับเด็กเข้าเรียนทั้งในระดับอนุบาลและประถมศึกษาปีที่ 1 จะไม่มีการสอบ หากสถานศึกษาใดฝ่าฝืนจะถูกปรับไม่เกิน 5 แสนบาท เข้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมีข้อห่วงใยในประเด็นค่าปรับในกรณีที่มีการละเมิดไม่ปฏิบัติตามกฏหมายนั้น คาดว่าอาจจะสามารถไปปรับแก้ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือการพิจารณาขั้นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ หากเห็นว่าอาจจะมีวิธีการอื่นที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้แทนการปรับในกรณีที่มีการละเมิดไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังได้มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... โดยมีสาระสำคัญที่จะช่วยในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา 5 ประเด็น คือ 1.การวางระบบการศึกษาที่รองรับความหลากหลาย ความแตกต่าง และเริ่มพัฒนาระบบการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต 2.การยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งในส่วนของครู ที่จะมีการจัดตั้งกองทุนการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งจะเข้ามาช่วยระบบการผลิตครู คัดกรองผู้ที่มีความเหมาะสม เข้าสู่กระบวนการพัฒนาและคัดเลือกสถาบันผลิตครูที่มีความเหมาะสมด้วย เพื่อที่จะได้ผู้ที่มีความเหมาะสมเข้ามาศึกษา
รวมถึงจะมีการวางระบบสนับสนุนและพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องด้วย หลักสูตรและการจัดการศึกษา จะให้ความสำคัญกับการเน้นสมรรถนะที่จะสร้างคนดีและเก่งให้แก่สังคม และเปิดโอกาสให้สถานศึกษามีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการจัดหลักสูตรสถานศึกษา เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพ มีการดึงระบบสารสนเทศเข้ามาใช้เพื่อการศึกษา
3.การให้ความเป็นอิสระกับสถานศึกษา โดยกฎหมายจะกำหนดให้มีกระบวนการและกลไกต่างๆ เข้ามาช่วยให้สถานศึกษามีอิสระในการดำเนินการ 4 ด้านหลัก ได้แก่ วิชาการ การบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณและการบริหารงานทั่วไป และในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังให้ความสำคัญกับผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาและระบบสนับสนุนสถานศึกษา ที่จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นและสามารถบริหารจัดการงานตามบริบทพื้นที่ได้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า ครูจะมีเวลาอย่างเต็มที่ในการดูแลนักเรียน และการที่จะทำให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพตามความสามารถ และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องมีการกระจายอำนาจลงไปอย่างมีแผนและขั้นตอน
4.การบริหารจัดการระบบคุณภาพในองค์รวม ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพไม่ใช่การตรวจสอบ นำผลการประเมินมาใช้พัฒนาขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพทั้งระบบ ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะมีเครื่องมือที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ เช่น การประกันคุณภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนา เป็นต้น และ 5.การให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ ดำเนินการและประเมินผล ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ จะเป็นผู้ที่ดำเนินการยกร่างแผนฯ นี้ และจะต้องเป็นแผนที่มีความรอบด้าน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับระบบการศึกษาของประเทศด้วย
รวมทั้งผ่านร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยสาระสำคัญคือ การจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การปฏิรูปการบริหารราชการ เพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานในด้านวิจัยและการสร้างบุคลากรร่วมกัน 2.การปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อช่วยให้งานวิจัยเกิดประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน 3.ปฏิรูประบบงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ที่สำคัญ และสามารถทำการวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จะต้องมีการพัฒนาบุคคลเพื่อรองรับกับประเทศที่มีการขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมให้มีเอกภาพ มุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ และยกระดับการวิจัยพัฒนาและการสร้างนวัตกรรมของประเทศให้เท่าเทียมกับต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว หนึ่งในคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ.... จะทำให้เห็นปลายทางของระบบการคัดเลือกหรือรับคนเข้าทำงานเช่น ต่อไปอาจไม่ใช้ระบบแพ้คัดออกอย่างเดียว เด็กที่ทำกิจกรรม แม้กระทั่งการรับคนเข้าทำงาน อีกหน่อยต้องดูพอร์ตโฟลิโอ หรือการทำกิจกรรมมากกว่าที่จะมาดูเกรดการเรียน
ทั้งนี้ ตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการ ช่วงเปลี่ยนผ่านอายุ 6-8 ปีเป็นวัยเปลี่ยนผ่านขึ้นไปเป็นวัยเรียน ก่อนเข้าสู่วัยรุ่น การแข่งขันที่เกิดในอายุน้อยกว่า 8 ปี ผิดหลักพัฒนาการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเกมหรือกีฬาก็ไม่ได้ เพราะเด็กไม่ได้ต้องการเป็นผู้แพ้และถูกตอกย้ำว่าเป็นผู้แพ้ แต่พอเด็กก้าวเข้าสู่วัยเรียนต้องเข้าสู่วัยปกติ และเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เขาค้นพบตัวเองได้ เป็นไปตามกระบวนการแข่งขันที่เรียกว่าการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา แต่ไม่ใช่ในปฐมวัยแต่อย่างใด
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 25 ตุลาคม 2561