ขรก.ท้องถิ่นเตรียมบุกกรมสถ. ปมโอนหนี้คนกู้สหกรณ์มาให้คนค้ำรับผิดชอบ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ขรก.ท้องถิ่นเตรียมบุกกรมสถ. ปมโอนหนี้คนกู้สหกรณ์มาให้คนค้ำรับผิดชอบจากกรณีที่ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด ที่มี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานกรรมการ มีมติในการประชุมครั้งที่ 7/2561 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 ได้เห็นชอบให้โอนหนี้ของผู้กู้กว่า 4,224 ราย เป็นมูลค่ากว่า 1,190 ล้านบาท ให้กับผู้ค้ำประกันเงินกู้กว่า 8,000 คนรับผิดชอบแทน เหตุไม่สามารถตามหนี้จากผู้กู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในระดับ ปลัดอปท. รองปลัดอปท. ผู้อำนวยการกองคลัง ผู้อำนวยการกองช่าง และหัวหน้าฝ่ายบริหารต่างๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลทั่วประเทศ
นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯได้รับการร้องทุกข์จากข้าราชการส่วนท้องถิ่น และลูกจ้างประจำ ขององค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลทั่วประเทศ รวมทั้งข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมการการปกครองท้องถิ่นกว่า 100 ราย ว่า เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา นางสมศรี หลิมตระกูล ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด หรือสหกรณ์ สถ. มีหนังสือไปยังข้าราชการส่วนท้องถิ่นและลูกจ้างประจำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ ว่า คณะกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 14 ที่มีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานกรรมการ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 7/2561 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 ให้โอนหนี้เงินกู้ที่ผู้กู้ค้างชำระแก่สหกรณ์มาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งสหกรณ์ไม่สามารถติดตามทวงหนี้ได้ จึงโอนหนี้ทั้งหมดไปให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบแทน โดยให้หน่วยงานต้นสังกัดของผู้ค้ำดำเนินการหักเงินเดือนส่งให้สหกรณ์ตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคม 2561เป็นต้นไป หากผู้ค้ำต้องการฟ้องร้องผู้กู้สหกรณ์ยินดีจัดหาทนายและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ส่วนหนึ่ง ทำให้ผู้ค้ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้กู้เดือดร้อนอย่างมาก เพราะแต่ละคนมีรายจ่ายที่ค่อนข้างมากในแต่ละเดือน บางคนต้องผ่อนชำระหลายแห่ง หากถูกหักเพิ่มอีกแทบจะไม่มีเงินเหลือ และบางคนบอกว่าติดลบอีกตางหาก ซึ่งได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัส
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นเรื่องดังกล่าว สมาคมฯได้ขอคำปรึกษาทางด้านกฎหมายกับ นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความอาสาดูแลประชาชน ได้รับแนะนำในเบื้องต้นว่า “สหกรณ์ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ เพราะผู้ค้ำไม่ได้ยินยอมให้หักเงินชำระต่อสหกรณ์ หากหน่วยงานต้นสังกัดไปหักผู้ถูกหักอาจฟ้องในคดีอาญาได้ โดยสหกรณ์ต้องไปติดตามกับผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ประธานเป็นลำดับแรกให้ถึงที่สุดก่อน หากไม่สามารถติดตามหนี้หรือสืบทรัพย์จากผู้กู้ได้ จึงจะมาไล่เบี้ยเอากับผู้ค้ำซึ่งเป็นลูกหนี้ และการที่สหกรณ์มีมติดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจเป็นมติที่ไม่สามารถใช้บังคับได้ หรือเป็นโมฆะนั่นเอง”
“สำหรับการช่วยเหลือของสมาคมฯ ผมในฐานะเป็นหนึ่งในสมาชิกสหกรณ์ แต่ไม่เคยกู้ยืม และไม่ได้ค้ำประกันผู้ใด จะได้นำตัวแทนของผู้เดือดร้อนซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 10,000 คน อุทธรณ์มติคณะกรรมการฯดังกล่าวต่อประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ และนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ยกเลิกมติดังกล่าว พร้อมจะยื่นขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อขอให้ที่ประชุมใหญ่เพิกถอนมติของคณะกรรมการสหกรณ์ฯครั้งที่ 7/2561 และเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ให้ถอดถอนคณะกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 14 ทั้งคณะ รวมถึงนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ประธานกรรมการดำเนินการด้วย โดยจะมีตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับความเดือดร้อนและสมาชิกสหกรณ์ที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของสมาคมฯและเครือข่ายสมาชิกสหกรณ์ในครั้งนี้เข้าร่วมกว่า 500 คน ในวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2561 นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป ณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” นายพิพัฒน์ กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์สยามรัฐออนไลน์ วันที่ 23 ตุลาคม 2561 เวลา 13:45 น.