มติครม. 24 ต.ค.61 อนุมัติร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ - ปฏิรูปครู ให้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการที่เหมาะสม
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
มติครม. 24 ต.ค.61 อนุมัติร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ - ปฏิรูปครู ให้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการที่เหมาะสม24 ต.ค.61 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ครม.ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการอิสระ เพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ
3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) เกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ และศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ และให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลการดำเนินการการจัดตั้งหน่วยงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
4. ให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม การบริหารและการจัดการศึกษาของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา การเร่งรัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาวิชาชีพครู โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดหลักการซึ่งเป็นสาระสำคัญให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กรอบการปฏิรูปการศึกษาตามมาตรา 54 และมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการการศึกษา
1.1 กำหนดให้สถานศึกษาของรัฐมีความเป็นอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านการบริหารวิชาการ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารงานทั่วไป โดยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลสถานศึกษาของรัฐที่มีความเป็นอิสระต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำหรับสถานศึกษาของเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบตามที่กฎหมายกำหนด
1.2 กำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ความสามารถโดยต้องจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งจัดให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่
1.3 กำหนดให้สถานศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีแต่ละสถานศึกษามีคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลกิจการและการประกันคุณภาพของสถานศึกษา
1.4 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำข้อกำหนดด้านคุณภาพของการศึกษา เพื่อให้สถานศึกษานำไปจัดทำข้อกำหนดด้านคุณภาพและดำเนินการด้านประกันคุณภาพของสถานศึกษาของตน รวมทั้งต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานภายนอก
1.5 กำหนดให้มีสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัดในแต่ละจังหวัดโดยให้จัดตั้งตามความพร้อมและความสมัครใจรวมตัวกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานของรัฐ เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด
1.6 กำหนดให้สถานศึกษาในระดับการศึกษาก่อนวัยเรียนและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหลักสูตรสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน โดยหลักสูตรดังกล่าวต้องประกอบด้วยหลักสูตรแกนกลางที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้กับสถานศึกษาทุกแห่ง และหลักสูตรเพิ่มเติมของสถานศึกษาที่จัดทำขึ้นเอง โดยต้องมีความเหมาะสมกับศักยภาพและความถนัดของผู้เรียน และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างและหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ชุมชน และสังคม
2. การปฏิรูปครู
2.1 กำหนดให้รัฐมีโครงการระยะยาวในการผลิตและพัฒนาครู มีวัตถุประสงค์ในการคัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สนับสนุนทุนการศึกษา และคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพในการผลิตครูเพื่อให้ผู้รับทุนเข้าศึกษา เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของประเทศ
2.2 ให้ ศธ. จัดให้มีระบบและวิธีการที่หลากหลายและเหมาะสมในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาสมรรถนะและพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง โดย ศธ. จะดำเนินการดังกล่าวเอง หรือสนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ หรือจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อดำเนินการดังกล่าว
2.3 กำหนดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสม รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาความรู้และทักษะ และมีความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ โดยให้คำนึงถึงการปฏิบัติงานที่มีความยากลำบาก หรือการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยหรือห่างไกล
3. คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
3.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านงบประมาณ การจัดอัตรากำลังคน และการพัฒนากฎหมาย รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและระบบการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
3.2 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นส่วนราชการใน ศธ. ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และศึกษา วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และการจัดการศึกษาและระบบการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
3.3 กำหนดให้การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติต้องพิจารณาถึงปัจจัยด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนานาประเทศ สถานการณ์และผลการสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยหากในกรณีที่สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติได้ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติย่อมสามารถแก้ไขเพิ่มเติมแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้
2.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และความเห็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ
3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) เกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. โครงสร้างการบริหาร
1.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจในการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ประสานงาน กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอื่นใดที่เกี่ยวข้องในระดับชาติถึงระดับชุมชน เสนอหรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีและพัฒนาฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
1.2 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย รายได้ของสำนักงาน อาทิ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ เป็นต้น ให้รายได้ที่สำนักงานได้รับจากการดำเนินงาน เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
2. กำหนดให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัย แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ (1) ช่วงก่อนคลอด หรือทารกในครรภ์มารดา (2) ช่วงแรกเกิด ถึงก่อนอายุสามปีบริบูรณ์ หรือช่วงวัยเด็กเล็ก (3) ช่วงอายุสามปีบริบูรณ์ ถึงก่อนอายุหกปีบริบูรณ์ หรือ ช่วงเด็กก่อนวัยเรียน หรือช่วงวัยอนุบาล (4) ช่วงอายุหกปีบริบูรณ์ ถึงก่อนอายุแปดปีบริบูรณ์ หรือ ช่วงวัยรอยต่อระหว่างวัยอนุบาลกับวัยประถมศึกษาปีที่หนึ่งถึงปีที่สอง
3. กำหนดวัตถุประสงค์ของการให้เด็กปฐมวัยได้รับการดูแล พัฒนาและจัดการเรียนรู้ โดยให้อยู่รอดปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองจากการล่วงละเมิดไม่ว่าในทางใด ให้มีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและปัญญาที่ดีสมวัย สามารถเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับหลักการพัฒนาศักยภาพและความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึมซับสุนทรียะและวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ มีอุปนิสัยใฝ่ดี มีคุณธรรม มีวินัย ใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก
4. กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ การเลี้ยงดูบุตร การพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีสวัสดิการแก่หญิงมีครรภ์ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม
5. กำหนดหน้าที่ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีบริการและสวัสดิการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านสังคมอย่างมีคุณภาพแก่เด็กปฐมวัย หญิงมีครรภ์ และบุคคลในครอบครัวของเด็กปฐมวัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย เว้นแต่หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด จัดให้มีการพัฒนาเด็กปฐมวัยในช่วงรอยต่อระหว่างระดับอนุบาลกับระดับประถมศึกษาอย่างต่อเนื่องและราบรื่น จัดให้มีการคัดกรองเพื่อค้นหาเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา หรือเด็กปฐมวัยที่ไม่มีผู้ดูแลหรือเด็กด้อยโอกาสอย่างทันท่วงที รวมทั้งการให้ความรู้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยแก่ครอบครัวเด็กปฐมวัย
6. กำหนดให้การรับเด็กปฐมวัยเพื่อเข้ารับการพัฒนาในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติโดยวิธีการสอบคัดเลือกจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
7. กำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงานในปีที่สามของวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงานโดยคณะกรรมการประเมินซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันพุธ ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561, 18.05 น.