ศธ.พร้อมหนุน “วิทยาการคำนวณ” สู่ชั้นเรียนทั่วประเทศ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ศธ.พร้อมหนุน “วิทยาการคำนวณ” สู่ชั้นเรียนทั่วประเทศสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ The International Science, Mathematics and Technology Education Conferrence 2018 ISMTEC 2018 หัวข้อ Bringing Computational Thinking to K -12 การนำการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณเข้าสู่ชั้นเรียน ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ โดยมีนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานเปิดงาน โดยมีหน่วยงาน ร่วมจัดได้แก่ สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Secretariat : SEAMEO) Indiana University ASEAN Gateway Office และสมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวคท.)
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเรื่องวิชาวิทยาการคำนวณ และต้องการผลักดันให้เป็นไปทิศทางเดียวกัน ซึ่งภายในงานดังกล่าวมีการนำตัวอย่าง วิทยาการคำนวณจากทั่วโลกมานำเสนอว่าทั่วโลกเขาทำอะไรกันบ้าง มหาวิทยาลัยชั้นน้ำมีการคิดแบบวิทยาการคำนวณอย่างไร เพื่อให้ครูไทยที่ได้มาศึกษางานครั้งนี้ นำไปถ่ายทอดสู่นักเรียนให้เกิดความเข้าใจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวต่อว่า งานดังกล่าวนี้ต้องขอขอบคุณ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง นำครูจากทั่วประเทศมาเรียนรู้วิทยาการคำนวณเพื่อให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อการศึกษาเพราะจะเป็นตัวชี้วัดการศึกษาไทย อาทิ โครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิก หรือ Programme for International Student Assessment หรือ PISA และ ยังเป็นตัวประเมินว่าบุคคลที่ผ่านกระบวนการวิทยาการคำนวณจะมีงานทำในอนาคต โดยกระทรวงศึกษาธิการพร้อมจะผลักดันให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ด้านศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. เปิดเผยว่าการประชุมวิชาการนานาชาติ ISMTEC 2018 ถือเป็นเวทีกลางที่ให้ ครู นักการศึกษา และผู้สนใจจากทั่วโลกได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องร่วมกัน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย
ทั้งนี้เนื่องจากการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับปรับปรุง พศ.2560 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ได้เพิ่มสาระเทคโนโลยีซึ่งรวมวิชาวิทยาการคำนวณไว้ในการเรียนการสอนด้วย โดยวิทยาการคำนวณเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในการคิดเชิงคำนวณ การวางแผน ตลอดจนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ช่วยให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นของกำลังคนคุณภาพในศตวรรษที่ 21 มีความสามารถในการแก้ปัญหา และทักษะการใช้ชีวิต ส่งเสริมศักยภาพในการสร้างอาชีพที่แข่งขันได้ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีได้
งานนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ พัฒนาศักยภาพครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ในการจัดการเรียนการสอนอย่างเข้มแข็ง โดยได้ระดมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและในประเทศมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายได้แก่ การบรรยายพิเศษจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ การนำเสนอผลงานวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรมการเรียนการสอนซึ่งครูสามารถนำแนวทางไปปรับใช้พัฒนาการจัดการเรียนการสอน ให้เข้าถึงผู้เรียนทุกวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 23 ตุลาคม 2561 เวลา 18:59 น.