อาจารย์จุฬาฯติงเปลี่ยนหลักสูตรครู 4 ปีไม่มีเหตุผล
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
อาจารย์จุฬาฯติงเปลี่ยนหลักสูตรครู 4 ปีไม่มีเหตุผลอาจารย์ จุฬาฯ ติงเปลี่ยนสอนหลักสูตรครู 4 ปีไม่มีเหตุผลทางวิชาการ พร้อมตั้งคำถามกระบวนการจัดการหลักสูตร 4 ปีจากนี้จะมีกระบวนการอะไร
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 4 ปี ในปีการศึกษา 2562 จากปัจจุบันมหาวิทยาลัยใช้หลักสูตรครู 5 ปี ซึ่งไม่ได้บังคับและขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัย เบื้องต้นจะเริ่มที่กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏก่อน ขณะที่มหาวิทยาลัยใดที่มีความพร้อมสามารถแจ้งมายังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อให้ทันเข้าระบบการคัดเลือกกลางเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส (TCAS) ปีการศึกษา 2562
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการจะเปลี่ยนไปเป็นหลักสูตรครู 4 ปี กับ 5 ปี เป็นการเปลี่ยนโดยไม่มีเหตุผล ขาดข้อมูลงานวิจัยมารองรับ ทั้งที่ผ่านมาความพยายามที่จะพัฒนาการสอนมาเป็นหลักสูตร 5 ปีก็เพื่อให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีคุณภาพมีค่าตอบแทนที่สูงกว่าวิชาชีพอื่นๆในระดับปริญญาตรีด้วยกัน ซึ่งเนื้อหาสาระในหลักสูตร 5 ปีก็มีการพัฒนาเพิ่มเติมแตกต่างไปจากหลักสูตร 4 ปี เพราะมีทั้งเรื่องการศึกษาพิเศษ การวิจัย ตลอดจนการออกแบบกิจกรรมในชั้นเรียน เพิ่มให้นิสิต นักศึกษาครูได้ฝึกปฏิบัติการสอนจริงในห้องเรียน โรงเรียนเพื่อได้เรียนรู้ประสบการณ์จริง ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยก็มีการวางรูปแบบเช่น ฝึกต่อเนื่อง 1 ปี หรือ จัดช่วงการฝึกสอนเพื่อให้นักศึกษาได้ลงไปฝึกปฏิบัติการสอนในห้องเรียน เป็นต้น
"ผมไม่ได้มองประเด็นว่าหลักสูตร 4 ปีหรือ 5 ปี แต่ตั้งคำถามในเชิงวิชาการ กระบวนการบริหารจัดการจากนี้จะทำอย่างไร ถ้าใช้หลักสูตร 4 ปีแล้วหลักสูตรนี้จะเป็นอย่างไร จะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับกรอบสมรรถนะวิชาชีพครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เพิ่งมีการประกาศด้วยหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่เห็นชัดเจน"ผศ.อรรถพล กล่าว
ผศ.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ส่วนการที่บอกว่าหลักสูตร 4 ปี กับหลักสูตร 5 ปีไม่ต่างกัน ตั้งคำถามว่าเคยได้ลงมาติดตามนิเทศการสอนของนักศึกษาต่อเนื่องหรือไม่ หรือเทอมละหลายๆครั้ง เคยมีการประเมินหรือมีรายงานวิจัยใดที่ศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นว่าผู้เรียนในหลักสูตร 4 ปี และ หลักสูตร 5 มีสมรรถนะเหมือนหรือไม่ต่างกันอย่างไร และใช้เกณฑ์ใดเป็นตัววัด และถ้าสรุปมาว่าไม่ต่างกันใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อลูกศิษย์ด้วย
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 19 ต.ค. 2561 06:47 น.