แนะเปลี่ยนผอ.โรงเรียนผลโอเน็ตต่ำ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
แนะเปลี่ยนผอ.โรงเรียนผลโอเน็ตต่ำประธาน กพฐ.ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ดูปัญหาโรงเรียนผลโอเน็ตต่ำ พบ ผอ.โรงเรียน ไม่เชี่ยวชาญวิชาการ จี้ สพฐ.เร่งแก้ไข แนะเปลี่ยนผอ.โรงเรียน ให้คนเดิมออกไปอบรมเรียนรู้เพิ่มเติม
วันนี้ ( 11 ต.ค.) ดร.ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนและ กรรมการ กพฐ. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 จังหวัดที่มีผลคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต อยู่ในระดับต่ำ หรืออยู่ในโซนพื้นที่สีแดง ตามที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)วิเคราะห์ไว้ โดยในการลงพื้นที่ได้ตรวจเยี่ยมทั้ง โรงเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งแต่ละแห่งใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง อาจได้ข้อมูลไม่ลึกพอ แต่สิ่งที่เราค้นพบข้อสำคัญ คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน อาจเก่งในด้านนาฏศิลป์ วิชาชีพ ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการ ไม่สามารถนำความรู้ความเก่งที่มีมาบูรณาการกับวิชาการได้เลย แม้จะมีครูที่ดีมาก กลายเป็นต่างคนต่างทำ ขณะที่บางโรงเรียนแม้จะอยู่ใกล้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่อยู่ในโครงการโรงเรียนในฝันมาก่อน แต่ถูกปล่อยปละละเลยจนชำรุดทรุดโทรม อุปกรณ์การเรียนก็ไม่เพียงพอ มีนักเรียน 800 คน มีคอมพิวเตอร์ 12 เครื่อง และอยู่ในห้องสมุดเท่านั้น ซึ่งแสดงว่าบริบทการบริหารจัดการ กำกับดูแล การเรียนการสอน ยังไม่ดีพอ
ดร.ปิยะบุตร กล่าวต่อไปว่า ตนได้แจ้งผลการลงพื้นที่ดังกล่าว ให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ. รับทราบและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แก้ไขปัญหา พร้อมทั้งลงไปตรวจติดตามโรงเรียนที่มีผลโอเน็ตต่ำทุกๆ 6 เดือน เพื่อดูว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป้าหมาย คือ ให้มีโรงเรียนที่มีคะแนนโอเน็ตต่ำ ขยับเป็นโรงเรียนที่มีผลคะแนนโอเน็ตระดับปานกลาง หรือ เป็นพื้นที่สีเหลือง ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนในกลุ่มพื้นที่สีเหลืองนี้กว่า 90% รวมถึงให้สพฐ.ประเมินว่าจะต้องใช้เวลาแก้ไขนานเท่าไร สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาอาจต้องเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียน โดยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนคนเดิมได้ไปอบรมในสิ่งที่อ่อน เช่น อ่อนวิชาการ ก็ไปอบรมวิชาการเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาด ทั้งนี้ แม้จะไปตรวจในบางจังหวัดแต่ก็คิดว่า ภาพรวมปัญหาของโรงเรียนที่มีผลคะแนนโอเน็ตต่ำน่าจะคล้าย ๆ กันหมด คือ 1.ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งบางโรงเรียนพบว่า เด็ก ป.6 ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และ 2.ปัญหาระบบการบริหารจัดการ คุณภาพครูอุปกรณ์การเรียนที่มีไม่เพียงพอ.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2561 เวลา 12.59 น.