โรงเรียนบ้านถิ่น การคืนชีพของโรงเรียนไอซียู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
โรงเรียนบ้านถิ่น การคืนชีพของโรงเรียนไอซียูวันเสาร์ที่ผ่านมาผมไปร่วมส่งมอบ “ศูนย์การเรียนรู้คอมพิวเตอร์และห้องสมุดชุมชน” และ “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ โรงเรียนบ้านถิ่น ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี เป็นโครงการที่ มูลนิธิซีไอเอ็มบี, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย, วารสารการเงินธนาคาร, งานมหกรรมการเงิน Money Expo อุดรธานี, ครอบครัวข่าว 3, บริษัทคิงส์เมนฯ ร่วมกันทำขึ้น เพื่อมอบให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลน ได้มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR ที่พวกเราทำด้วยใจ
โรงเรียนบ้านถิ่น เป็น โรงเรียนที่ 6 ในอุดรธานี โครงการนี้เกิดขึ้นจาก งานมหกรรมการเงิน Money Expo ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย ถ้านับรวมแล้ว โรงเรียนบ้านถิ่น จะเป็น โรงเรียนแห่งที่ 30 ที่ได้รับศูนย์เรียนรู้คอมพิวเตอร์และห้องสมุดชุมชน
โรงเรียนบ้านถิ่น มีนักเรียน 81 คน สอนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงประถม 6 ตั้งอยู่ระหว่าง 2 หมู่บ้านใน ต.เชียงเพ็ง นักเรียนจึงเป็นลูกหลานในสองหมู่บ้านนี้ มีครู 3 คน ผอ.โรงเรียน 1 คน ซึ่งไม่เพียงพอ เคยมีการนำนักเรียนไปฝากเรียนที่อื่น แต่ก็ไม่สะดวก ผอ.โรงเรียนและครูจึงช่วยกันบริจาคเงินเดือนจ้างครูผู้ช่วยอีก 2 คน เพื่อดูแลนักเรียน เรื่องเศร้าแบบนี้เป็นเรื่องปกติในโรงเรียนชนบทต่างจังหวัด เป็น ความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่เคยได้ยินไปถึงหู นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ นายกฯจึงชอบพูดว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งที่ทิ้งคนไว้ข้างหลังมากมาย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงคนแก่
แม้จะขาดแคลน แต่ใจครูไม่เคยท้อ เมื่อได้รับกำลังใจจากพวกเราที่ไปเสนอ ครู ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง นักเรียน จึงได้ร่วมกันทำความสะอาดห้องสมุด เพื่อสร้างห้องสมุดใหม่ พร้อมหนังสือใหม่และตำราใหม่ที่เป็นการ์ตูนสี่สี ทาสีห้องคอมพิวเตอร์ใหม่ ต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อเรียนวิชาเพิ่มเติมจากโรงเรียนไกลวังกล (ผอ.โรงเรียนเล่าให้ฟังว่า เดิมมีคอมพิวเตอร์เก่า 2 เครื่อง ห้องสมุดก็เก่าจนปลวกกิน) พร้อมยื่นหนังสือถึง นายกฯ อบจ. ขอรถไถดินมาปรับพื้นที่หน้าโรงเรียนที่น้ำท่วมเป็นประจำ ปรับพื้นที่เป็นแปลงเกษตร มีบ่อเลี้ยงปลา แปลงปลูกพืชสมุนไพรที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอุดร และโรงเลี้ยงเห็ด ภายใต้โครงการใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาคือ “ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้โรงเรียนมีอาหารกลางวันเด็ก และเหลือนำไปขายได้
เป็นความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่ผมรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง คุณฉวีวรรณ พาภักดี ผอ.โรงเรียน และผู้นำชุมชน ไม่มีใครท้อแท้ ไม่มีใครยอมแพ้ ต.เชียงเพ็ง เป็นตำบลเล็กๆ มีประชากรเพียง 1,000 คน วันส่งมอบโครงการ คุณวิโรจน์ อุทุมโภค นายอำเภอกุดจับ คุณวิทยา ประวะโข ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 4 รวมทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ได้มาร่วมรับมอบโครงการกันอย่างอบอุ่นน่าชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง สะท้อนถึงพลังความสามัคคีของชุมชนแห่งนี้
นายอำเภอวิโรจน์ เล่าว่า โรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนที่มีนักเรียนน้อยถูกจัดเป็น “โรงเรียนไอซียู” ต้องถูกยุบในพื้นที่มีหลายโรงเรียน บางโรงเรียนก็ร้องเรียนไปยัง “ศูนย์ดำรงธรรม” ขอไม่ให้ยุบ เพราะยุบแล้วไม่รู้จะให้ลูกหลานไปเรียนที่ไหน ก็ได้มีการนำโรงเรียนกลับคืนมาให้ชาวบ้าน ปัญหาใหญ่อีกอย่างของโรงเรียนในอำเภอกุดจับก็คือเรื่อง “ยาเสพติด” ที่แพร่หลายมากในโรงเรียนเกือบทุกแห่ง มีมากจนปราบไม่ไหว การเกณฑ์ทหารที่ผ่านมา ก็มีการตรวจพบสารเสพติดถึง 70 คน
ผมไปร่วมบริจาคและส่งมอบ ศูนย์การเรียนรู้คอมพิวเตอร์และห้องสมุดชุมชน กับ มูลนิธิซีไอเอ็มบี การเงินธนาคาร มหกรรมการเงิน Money Expo ครอบครัวข่าว 3 คิงส์เมนฯ และพันธมิตรทุกปี ปีละ 4 โรงเรียนใน 4 ภูมิภาค เหนือ ใต้ อีสานล่าง อีสานบน ได้ฟังข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่มากมาย จึงมักมีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาเพื่อคนเมือง มากกว่าคนต่างจังหวัดที่ขาดแคลน ทำให้รัฐบาลแก้ไขความยากจนไม่ได้
ถ้ารัฐบาลอยากปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ ผมเสนอว่า ลองโอนโรงเรียนในพื้นที่ไปสังกัด อบจ.ทั่วประเทศไหม ผมเชื่อว่าพวกเขาทำได้ดีกว่า กระทรวงศึกษาฯ แน่นอน วันนี้ อบจ.มีฐานะการเงินดีทุกแห่ง เด็กชนบทจะได้ไม่ถูกกระทรวงศึกษาฯทิ้งไว้ข้างหลัง.
ลม เปลี่ยนทิศ
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ