สพฐ.จ้าง "ครูธุรการ" ครบทุกรร.ทั่วประเทศแล้ว ช่วยลดภาระงานครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ.จ้าง 'ครูธุรการ' ครบทุกร.ร.ทั่วประเทศแล้ว ช่วยลดภาระงานครูสพฐ. ทุ่มงบประมาณ 2,000 ล้านบาท จัดจ้าง "ครูธุรการ" ในงบประมาณปี 62 ครบทุกร.ร.ทั่วประเทศแล้ว พร้อมไฟเขียวให้ 9,000 โรงเรียนที่ไม่มีภารโรงจ้างงานได้ เหตุเตรียมจัดสรรงบเอาไว้รองรับแล้ว 400 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2561 ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในโครงการลดภาระงานครู โดยให้มีการจ้างผู้ปฏิบัติงานธุรการทำหน้าที่แทนครูให้ครบทุกโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 29,707 โรง เพื่อให้ครูมีเวลาทุ่มเทให้กับการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ นั้น เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2561 ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามในหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ทุกเขตแล้ว เพื่อให้แจ้งโรงเรียนว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้จัดสรรอัตราจ้างผู้ปฏิบัติงานธุรการให้แก่โรงเรียนขึ้น กว่า 17,906 อัตรา เป็นเงินงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท เพิ่มจากที่ได้รับงบฯในการจัดจ้างปีงบฯ 2562 จำนวน 11,801 อัตรา โดยเป็นการจ้างตลอดปีงบประมาณ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึง กันยายน 2562
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้แจ้งเรื่องการจ้างนักการภารโรง ประจำปีงบฯ 2562 ด้วย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กรณีสถานศึกษาได้รับงบประมาณที่มีสัญญาจ้างเดิมซึ่งเป็นการจ้างรายเดือนให้ดำเนินการจ้างต่อไปได้ ส่วนสถานศึกษาที่ยังไม่มีนักการภารโรง สพฐ.ได้จัดสรรอัตราจ้างปฏิบัติหน้าที่นักการภารโรง ปีงบฯ 2562 ตามโครงการลดภาระงานครูไปให้
โดยจะใช้วิธีใหม่ คือ การจ้างเหมาบริการเป็นการเฉพาะเรื่อง เช่น จ้างคนตัดหญ้า จ้างทำความสะอาด ในอัตรา 300 บาทต่อวัน หรือ ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด โดยจัดสรรให้สัปดาห์ละ 2 วัน ตลอด 1 ปีงบประมาณ 52 สัปดาห์ คือ 104 วัน ซึ่งในการจ้างเหมางาน 104 วัน นั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของโรงเรียน โดยอาจจะจ้างสัปดาห์ละ 2 วัน หรือ ระดมทำงานสัปดาห์ละหลายวัน หรือ วันหนึ่งจ้างหลายคนก็ได้ เป็นการจ้างตามงานที่ต้องการทำจริง ๆ
“ตอนนี้โรงเรียนทั่วประเทศมีอีก 9,000 กว่าโรงที่ยังไม่มีนักการภารโรง สพฐ.ก็จะจัดสรรไปให้โดยจ้างวิธีการใหม่ ซึ่ง สพฐ.ได้งบฯส่วนนี้มากว่า 400 ล้านบาท ทั้งนี้การจ้างงานรูปแบบใหม่ที่เป็นการจ้างเหมะจะเป็นการกระจายการจ้างงานได้อย่างดี สามารถสร้างงานให้แก่คนในพื้นที่ให้มีรายได้ จากที่โรงเรียนที่ไม่มีนักการภารโรงเลยก็จะได้คนไปทำงานตามภาระงานที่ต้องการ ส่วนโรงเรียนที่อยากได้นักการภารโรงประจำก็สามารถหาเงินอื่นมาทำได้” ดร.บุญรักษ์กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 ตุลาคม 2561