ปิดตำนาน‘ภารโรง’! สพฐ.เปลี่ยนใช้วิธีเหมาจ่าย จ้างแม่บ้านวันละ300
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ปิดตำนาน‘ภารโรง’! สพฐ.เปลี่ยนใช้วิธีเหมาจ่าย จ้างแม่บ้านวันละ3002 ต.ค.61 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เซ็นหนังสือจัดจ้างผู้ปฏิบัติงานทางธุรการ แทนครูผู้สอนแล้ว จึงอยากฝากแจ้งไปถึงโรงเรียนทุกแห่งได้รับทราบ ซึ่งขณะนี้ สพฐ.มีโรงเรียนอยู่ 29,000 กว่าโรงเรียน ในปีนี้ สพฐ.ได้รับงบฯในการจัดจ้างผู้ปฏิบัติงานทางธุรการ 11,000 กว่าอัตรา ดังนั้น สพฐ โดยนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ มีโครงการนี้เพื่อลดภาระให้ครูผู้สอน สพฐ.ก็จะเพิ่มให้อีกประมาณ 17,000 อัตรา โดยตนได้ลงนามให้โรงเรียนเริ่มจ้างผู้ปฏิบัติหน้าที่ธุรการได้ตั้งแต่ ต.ค.61- ก.ย.62
สำหรับในส่วนของนักการภารโรง ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วน มีในส่วนที่โรงเรียนใช้งบประมาณจ้างเป็นรายเดือนอยู่แล้ว ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง ส่วนโรงเรียนที่ยังไม่มีนักการภารโรง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 9,000 กว่าโรง ดังนั้น สพฐ.ได้จัดงบตามโครงการลดภาระครูไปให้กับโรงเรียนใช้วิธีจ้างเหมาบริการเฉพาะเรื่อง เช่น โรงเรียนอยากตัดหญ้า หรือซักผ้าปูที่นอน กรณีโรงเรียนชั้นปฐมวัย ก็ให้จ้างแม่บ้านซักผ้าให้ในอัตราขั้นต่ำวันละ 300 บาท โดย สพฐ.จัดงบให้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 วันต่อ 1โรงเรียน รวมจำนวน 104 วัน แล้วแต่โรงเรียนจะใช้วิธีจ้างทุกสัปดาห์ตามงานที่ต้องทำจริง หรือระดมจ้างหลายวันติดต่อกันก็ได้
“ดังนั้นอนาคต หากภารโรงเกษียณโดยนโยบายของรัฐ ไม่น่าจะมีการบรรจุนักการภารโรงใหม่เข้ามา แต่จะให้โรงเรียนใช้วิธีจ้างเหมาบริการแทน เพราะการจ้างนักการภารโรง 1 คน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ทุกอย่าง แต่รัฐก็ให้เงินสนับสนุนมา และสพฐ.เติมไปให้อีก” นายบุญรักษ์ กล่าว
สำหรับโรงเรียน 9,000 กว่าโรงที่ยังไม่มีนักการภารโรง เพราะโรงเรียนมีขนาดเล็กเด็ก 40-50 คน หากต้องการเปลี่ยนสายไฟ ก็จ้างช่างไฟมาทำวันละ 300 บาท หรือจ้างคนในพื้นที่เพื่อให้เขามีรายได้เพิ่มจากการทำงาน เป็นการกระจายรายได้ให้คนในพื้นที่ ส่วนโรงเรียนที่คิดว่าอยากได้ภารโรงประจำเป็นรายเดือน สพฐ.ก็ไม่ได้ห้าม ถ้ามีเงินเหลือนำมาสมทบกับที่ สพฐ. จัดให้ สพฐ.ต้องการสนับสนุนครูเพราะการสอนให้ดีครูต้องมีเวลาเตรียมอย่างน้อย 3 ส่วน โดยส่วนแรกเตรียมก่อนการสอน เตรียมคิดกิจกรรม เตรียมสื่ออุปกรณ์ ส่วนช่วงสอน ครูก็จะได้เต็มที่กับเด็ก และหลังสอนซึ่งเรามีจุดอ่อนอยู่เพราะครูมีภาระเยอะ ซึ่งหลังสอนครูจะต้องมีเวลาบันทึกเด็กเป็นรายคน เช่น เด็กเก่งแล้วก็ให้ไปทำกิจกรรมต่อยอดต่อไป ส่วนเด็กที่ยังเรียนไม่ทันเพื่อน ครูก็จะได้ไปเพิ่มเติมให้กับเด็ก ตนก็บอกครูอยู่เสมอว่าหลังจากนี้ครูจะต้องทุ่มเทช่วยเหลือเด็กและให้นักเรียนเป็นหน้างานให้มาก
“ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่จะทำให้มีผู้ปฏิบัติงานธุรการแทนครูผู้สอนให้ครบทุกโรงเรียน ซึ่งต้องใช้งบ 2 พันกว่าล้านบาท โดยวันที่ 1 ต.ค.นี้ เริ่มดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมด ส่วนงบภารโรงเหมาจ่ายบริการ อีกประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งสพฐ.ได้กันงบไว้แล้ว จะจัดสรรตามไปให้ เนื่องจาก สพฐ.เพิ่งจะคิดเกณฑ์เสร็จ ซึ่งงบใน 2 ส่วนที่ใช้นี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาของเด็ก เพราะจะทำให้ครูมีเวลาให้กับเด็กมากขึ้น” นายบุญรักษ์ กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันอังคาร ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561, 19.03 น.