ปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มที่กระทรวงศึกษาฯ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มที่กระทรวงศึกษาฯเสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
คุณหมออุดม คชินธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ปาฐกถาเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ ภายใต้หัวข้อ “ปฏิรูปการศึกษาสู่การพัฒนาประเทศ” ท่านอ้างธนาคารโลกที่บอกว่า ภายใน 12 ปี เด็กไทยที่จบมหาวิทยาลัยจะตกงาน 72%
ความจริงท่านได้พูดไว้หลายที่หลายครั้งเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา เรื่องกระทรวงอุดมศึกษาที่กำลังจะเกิด โดยหวังว่าจะทำให้คำทำนายของธนาคารโลกผิด ท่านให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับครูอาจารย์ ย้ำว่าการจัดการศึกษา “ต้องไม่ตัดเสื้อโหลให้ทุกคนใส่เหมือนที่ผ่านมา”
ผมเห็นด้วยกับคุณหมออุดมทั้งหมดที่ท่านพูด และเข้าใจดีว่า ทำไมท่านจึงไม่พูดถึงเรื่องกระบวนทัศน์และเรื่องระบบโครงสร้าง ซึ่งท่านคงทราบดีว่าสำคัญเพียงใด แต่พูดไปอาจเหมือนกับที่รัฐมนตรีธีระเกียรติพูดเรื่องนาฬิกาที่ยืมเพื่อนมา
เรื่อง “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศ” มหกรรมที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัด เป็นหัวข้อที่ถูกต้องแล้ว เพราะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ปัญหาใหญ่สุดของการปฏิรูป คือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้าง ไม่ใช่แค่การ “ปะผุ”
การปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มจากกระทรวงศึกษาธิการ คือการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ เพราะ “ที่ใดมีอำนาจมากก็จะคอร์รัปมาก” (absolute power corrupts absolutely – Lord Acton) ก็จะหลงอำนาจ (despotic) และหลงตัวเอง (narcissistic) แตะต้องไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ ไม่รับฟังข้อเสนอใดๆ ที่ไปกระทบระบบโครงสร้างอำนาจ (อย่างบทความนี้ที่ไปแทงใจดำหลายคน ที่ไม่สามารถรับได้)
เห็นด้วยกับคุณหมออุดมว่า ครู อาจารย์ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ต้องไม่ใช่ผู้สอนหนังสืออีกต่อไป แต่ต้องเป็นโค้ช ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้เป็น ปรับตัวได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในโลกยุคใหม่ ต้องเอาชีวิตจริง เอาปัญหาจริงเป็นตัวตั้ง เรียนรู้จากการปฏิบัติ ไม่ใช่ท่องหนังสือไปสอบ เพราะหนังสือตำราเขียนออกมาก็ล้าหลังไปอย่างน้อย ๑๐ ปีแล้ว
แต่กระทรวงศึกษาธิการที่เต็มไปด้วยข้าราชการ พนักงานที่นั่งทำงานอยู่กรุงเทพฯ ควบคุมการศึกษาทั่วประเทศ เพิ่มคนเพิ่มงบอีกเท่าไรก็คงไม่พอ เพราะอำนาจไม่เคยลดลง มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น โดยไม่พยายามปรับบทบาทของตนเองให้ลดลง ไม่ใช่ไป “ควบคุม” แต่ไป “ส่งเสริมสนับสนุน”
ประเทศพัฒนาเขาไม่มีองค์กรใหญ่โตในส่วนกลางเพื่อควบคุมการศึกษา เพราะเขากระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นให้บริหารจัดการเอง มีหน่วยงานที่อย่างมากก็กำกับดูแล แต่ที่ทำมากที่สุด คือให้การส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่างๆ ทั้งงบประมาณและวิชาการ
การตัดเสื้อโหลใส่กันเป็นอาการบ่งชี้แนวคิดอำนาจนิยม เพื่อควบคุมได้ง่าย ให้ทุกคนอยู่ในอาณัติ แต่คุณหมออุดมก็ทนไม่ได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) “ดอง” หลักสูตรมหาวิทยาลัยต่างๆ ไว้เพื่อให้การ “รับทราบ” (แต่ศรีธนญชัยทำให้เป็นการ “รับรอง” หรือ “อนุมัติ” ) เพราะสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการอนุมัติอยู่แล้ว
นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยของความพยายามรวบอำนาจของหน่วยงานของรัฐ และท่านยังจะให้มี “กระบวนทัศน์” แบบนี้ และระบบโครงสร้างแบบนี้ในกระทรวงอุดมศึกษาที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือ
ท่านไม่อยากให้มีเสื้อโหล แต่กระทรวงศึกษาธิการที่กรุงเทพฯ ก็ยังคงพยายามตัดเสื้อโหลต่อไป ยังมีวิธีคิดและเข้าใจเรื่องการศึกษาแบบเดียว คือ แบบที่ทำเพื่อรับใช้สังคมอุตสาหกรรมที่ทำกันมาเป็นร้อยปี แบบที่มีห้องเรียนสี่เหลี่ยม มีหลักสูตรสำเร็จรูป มีการเรียนการสอนโดยอาจารย์ที่เรียนจบมาในด้านนั้นๆ
นี่คือปัญหาที่นักศึกษาจบออกมาแล้วจะหางานทำไม่ได้ ธนาคารโลกวิเคราะห์จากตรงนี้ เพราะสิ่งที่มหาวิทยาลัยสอนไม่ตอบสนองโลกที่เปลี่ยนไป สังคมอุตสาหกรรม สังคมบริการ อันเป็นเป้าหมายของการทำมหาวิทยาลัยหรือการศึกษาไทยโดยรวมกำลังเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ (disruptive)
แต่สกอ.ยังทำหน้าที่ “ควบคุม” สถาบันอุดมศึกษา ยังคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่แบบเดิม และต้องมีมาตรฐานเดิม ต้องมีการเรียนแบบเดิม อาจารย์แบบเดิม กี่คนต่อหลักสูตร คุณวุฒิอะไร ต้องเรียนในที่ตั้ง ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม ไม่ใช่นอกที่ตั้ง ทั้งๆ ที่การเรียนวันนี้เรียนที่ไหนก็ได้ ไม่มีพรมแดนแล้ว การงานก็ไม่มีโรงงาน ไม่มีออฟฟิศแล้ว แม้แต่ธนาคารที่นึกว่ามั่นคงก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว AI มาแล้วในทุกวงการ
แทนที่จะช่วย “ส่งเสริมสนับสนุน” กลับบอนไซ ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นไม้ในกระถาง การปฏิรูปคือการทุบกระถางเอาไม้ลงดิน ให้โตเป็นไม้ใหญ่ พึ่งตนเองได้ ไม่ต้องรดน้ำ เพราะพึ่งตนเองได้ เป็นที่พึ่งให้สังคมได้ กระทรวงอุดมศึกษาใหม่อาจเป็นกระถางเหล็กใบใหม่ก็ได้ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิด (mind-set)
ท่านลองพิจารณาดูว่า สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน – “มหาวิทยาลัยชีวิต” คือสถาบันอุดมศึกษาที่เรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เรียนจากการปฏิบัติ นักศึกษาเป็นผู้ใหญ่ มีงานทำเกือบทุกคน เรียนแล้วอยู่อย่างมีศักศรีและมีกินในท้องถิ่นตน เรียนแล้วช่วยตนเองได้ ช่วยคนอื่นได้ เรียนโดยการสร้างความรู้มือหนึ่ง ความรู้ใหม่ที่ได้จากการปฏิบัติ ทำโครงงาน ๓ ปี เพื่อพัฒนาตนและชุมชน
แทนที่จะทำให้ “มหาวิทยาลัยชีวิต” ชูธงนำการปฏิรูปการศึกษา สถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้กลับถูกควบคุม ประเมิน ตรวจสอบด้วยเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันกับมหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ผลิตคนไปรับใช้สังคมอุตสาหกรรม (แบบที่ธนาคารโลกวิจารณ์) ถูกสั่งปิดไปหลายศูนย์เพราะไปทำ “นอกที่ตั้ง” ทั้งๆ ที่สถาบันแห่งนี้เอาชุมชนเป็นห้องเรียน เอาเรื่องชุมชนมาเรียน ชวนชุมชนมาร่วมเรียนรู้ ต้องตั้งอยู่ในชุมชน
หรือว่ากระทรวงศึกษาและอุดมศึกษาไทยยังพอใจที่จะเป็นเหมือนกล้องใช้ฟิล์มอยู่ต่อไป โดยไม่กลัวล้มละลายเหมือนโกดัก ที่ลืมไปว่าโลกได้เปลี่ยนเป็นดิจิทัลไปแล้ว
คุณหมออุดมครับ “มหาวิทยาลัยชีวิต” แห่งนี้ใส่เสื้อโหลไม่ได้ครับ มันคับเกินไป
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์สยามรัฐออนไลน์ วันที่ 26 กันยายน 2561 เวลา 07:00 น.