เด็กรุ่นใหม่ยื่น 3 ข้อเสนอให้ศธ.แก้ไข
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เด็กรุ่นใหม่ยื่น 3 ข้อเสนอให้ศธ.แก้ไขเครือข่ายเยาวชนฯ บุก ศธ. ยื่น 3 ข้อเสนอ ชงยกเครื่องฝ่ายแนะแนว ชูแนวคิด“วิชาชีวิต” สร้างภูมิคุ้มกันเมื่อต้องเผชิญกับความจริงทางสังคม
วันนี้ (20 ก.ย.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน พร้อมด้วย เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กว่า30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. เพื่อเรียกร้องเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ โดยขอให้ ศธ.ทำงานเชิงรุก ออกมาตรการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางสังคมที่ล่อลวงเด็กและเยาวชน หลังพบว่าปัญหาเด็กและเยาวชนทวีความรุนแรงขึ้นในทุกมิติ เช่น ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน ท้องไม่พร้อม ติดโซเชียล ติดเกม โดยมี ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัด ศธ.รับจดหมายเปิดผนึกแทน
โดย นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้เด็กและเยาวชน เล่นพนันมากถึง 3.6 ล้านคน มีนักดื่มหน้าใหม่ 250,000 คนต่อปี รวมถึงมีเด็กและเยาวชนไทยเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 2,510ราย เด็กไทยอายุ 15-24 ปี ติดบุหรี่กว่า1,500,000 คน นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ตามมาอีกมาก ด้วยระบบแพ้คัดออก ลอยแพเด็กหลังห้อง ระบบการประเมินผลที่ทำให้เกิดการซุกขยะไว้ใต้พรม ไม่กล้านำความจริง นำปัญหามาพูดกัน เพราะกลัวกระทบภาพลักษณ์สถาบัน
นายณัฐพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 2561 เครือข่ายเด็กและเยาวชน มีข้อเสนอต่อ รมว.ศธ.เพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้ 1.ขอให้ ศธ.นำแนวคิดเรื่องวิชาชีวิต ซึ่งพัฒนาและรวบรวมโดยศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก ไปต่อยอดพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพิ่มทักษะชีวิต เป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนเมื่อต้องเผชิญกับความจริงในสังคม 2.ขอให้ ศธ.ให้ความสำคัญกับปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในขณะนี้ โดยกำหนดให้สถาบันการศึกษาต้องดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม นำการแก้ไขปัญหาเด็กที่เคยผิดพลาดมาพิจารณาร่วมในการประเมิน และ 3.ขอให้ ศธ.ปฏิรูปฝ่ายแนะแนวของทุกสถาบันการศึกษาให้ทำงานเชิงรุก เพื่อรับมือกับปัญหาปัจจัยทางสังคมที่ชักนำ ล่อลวง เด็กและเยาวชน ให้ตกหลุมพลาง มีการให้คำปรึกษาที่เป็นมิตร ไม่ซ้ำเติมและเป็นที่ไว้วางใจของเด็กและเยาวชน โดยอาจมีการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิต่างๆในพื้นที่ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น
ขณะที่ นายชยุต พ่วงมหา เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มวัยรุ่นที่พลาดเกี่ยวกับเรื่องเพศสูงขึ้น รวมถึงมีเด็กที่ต้องออกโรงเรียนกลางคันสูงกว่า 1 แสนคนต่อปี กรณีล่าสุดที่ทางมูลนิธิฯเข้าช่วยเหลือนักเรียนชั้น ม.5 ตั้งครรภ์ พอครูรู้จะให้ออก แต่เด็กต้องการเรียนต่อให้จบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่า ทางโรงเรียนไม่มีระบบการช่วยเหลือ จะให้ออกอย่างเดียว มุ่งเน้นรักษาภาพลักษณ์สถาบัน ห่วงผลประเมินหากพบว่าเด็กมีปัญหา ดังนั้นเมื่อหลักสูตรทุกอย่างต้องผ่านศธ. ศธ.ก็ควรต้องเป็นที่พึ่ง เป็นโค้ชให้เด็กและเยาวชน ควรทำระบบการศึกษาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีวิชาเพศศึกษาวิชาชีวิตให้เข้าไปอยู่ในหลักสูตร และต้องมีในคาบเรียนเกิน16คาบต่อปี อีกทั้งครูแนะแนวต้องมีความรู้ความเข้าใจ ให้คำปรึกษาอย่างเป็นมิตร สร้างระบบ สร้างสิทธิให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนด้วย.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2561 เวลา 12.17 น.