สพฐ.รับลูก นายกฯ ขยาย โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ครอบคลุมกลุ่ม 18 จังหวัด
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ.รับลูก นายกฯ ขยาย โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ครอบคลุมกลุ่ม 18 จังหวัด11ก.ย.61-สพฐ.รับลูก นายกฯ ขยาย โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ครอบคลุมกลุ่ม 18 จังหวัด ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมยกร่างกฎระเบียบการปลดล็อค แก้ปัญหาการดำเนินการ และตั้งอ.ก.ค.ศ. เข้ามาดูในเรื่องการโยกย้ายในกลุ่มโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษโดยเฉพาะ
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ ซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้มีการหารือในหลายประเด็น โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือ โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความชื่นชมโครงการดังกล่าว อีกทั้งนายกฯ ยังได้มอบแนวทางการดำเนินการเรื่องนี้ให้ครอบคลุมในกลุ่ม 18 จังหวัดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จำนวน 40 โรง โดยจากนี้ สพฐ.คงต้องดูว่ามีการขยายโครงการฯ ให้กระจายไปตามกลุ่มจังหวัดที่นายกฯ ต้องการแล้วหรือยัง นอกจากนี้ สพฐ.จะดำเนินการปลดล็อคข้อกฎหมายเรื่ององค์ประกอบของสถานศึกษาให้แก่กลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนา เช่น เรื่องกรรมการสถานศึกษาของกลุ่มโรงเรียนในโครงการดังกล่าว ซึ่ง สพฐ.ได้เตรียมร่างกฎระเบียบการปลดล็อคไว้แล้ว และจะนำเสนอให้ กพฐ.พิจารณาและประกาศเร็วๆ นี้ โดยการปลดล็อคครั้งนี้จะช่วยให้ภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนโรงเรียนร่วมพัฒนาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารในฐานะกรรมการ ซึ่งถือมีความสำคัญมาก เพราะกรรมการที่มีภาคเอกชนเข้าร่วมจะมีส่วนร่วมในการเห็นชอบการใช้งบประมาณ หลักสูตรสถานศึกษา และการเสนอแนะแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารและข้าราชการครู
“นอกจากนี้ สพฐ.จะให้มีองค์คณะบริหารบุคคล เป็น คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ที่เข้ามาดูในเรื่องการโยกย้ายข้าราชการครูและผู้บริหารในกลุ่มโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษโดยเฉพาะ เช่น โรงเรียนร่วมพัฒนา โรงเรียนจุฬาภรณ์ เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์การโยกย้ายข้าราชการครูและผู้บริหารของกลุ่มโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษนั้น จะต้องดำรงตำแหน่งครูหรือผู้บริหารอย่างน้อย 5 ปีไม่ใช่ย้ายมาแล้วก็ไป ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ของการบริหารในกลุ่มโรงเรียนดังกล่าวต้องสะดุด เพราะครูและผู้บริหารขอย้ายบ่อยๆ ทั้งนี้เกณฑ์ดังกล่าวจะเร่งทำให้เสร็จ เพื่อนำเข้าที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณา และนำมาใช้กับการโยกย้ายผู้บริหารและครูของโรงเรียนจุฬาภรณ์ทันที”เลขาฯ กพฐ.กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 15:51 น.