หมอธีสั่งสพฐ.กระจายงบฯการศึกษาพิเศษถึงมือเด็ก
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
หมอธีสั่งสพฐ.กระจายงบฯการศึกษาพิเศษถึงมือเด็ก7ก.ย.61- "หมอธี” เดินหน้า ปฏิรูปการศึกษาพิเศษ สั่งปี62 สพฐ. ต้องกระจายงบฯ สู่ภาคปฏิบัติ ให้ถึงเด็กให้มากที่สุด พร้อมมอบ กำหนดหลักเกณฑ์ คัดเลือก ผู้บริหารสถานศึกษาการศึกษาพิเศษ แนะ ทำอย่างไรให้ได้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในด้านการศึกษาพิเศษเข้ามาทำหน้าที่
ที่ห้องกรุงธน บอลล์รูม โรงแรมรอยัล ริเวอร์ - สำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดงานประชุมปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพการบริหารงานสถานศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยมีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานพร้อมทั้งกล่าวบรรยายพิเศษ เรื่องการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความจำเป็นพิเศษ ตอนหนึ่งว่า เวลาที่มีคนพูดถึงเรื่องการปฏิรูป การปฏิรูปไม่ได้เกิดจากการเขียนสิ่งที่ต้องการจะให้เป็น ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อเราเขียนไปแล้วมันกลับไปเกิดขึ้นจริง เนื่องจากเรื่องต่างๆ ที่เขียนมีความห่างไกลจากความเป็นจริงอย่างมาก ดังนั้น การปฏิรูปทุกเรื่องจะต้องตั้งอยู่บนฐานที่เป็นอยู่ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ รวมถึงวัดผลได้ด้วย เพราะในหลวง รัชกาลที่ 9 สอนเสมอว่า เราต้องมองภาพใหญ่ แต่ลงมือปฏิบัติโดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ซึ่งจุดเล็กๆ ที่เราจะต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้ได้ คือ เรื่องการบริหารงบประมาณ ที่รวมแล้วมีอยู่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ต่อไปการบริหารงบฯ จะไม่มีการรวมศูนย์ โดยในส่วนของงบฯ ปี 2562 จะต้องปรับปรุงให้กระจายไปสู่ฝ่ายปฏิบัติให้ได้มากที่สุด ให้ถึงเด็กจริงๆ และควรเปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้วย เพราะตนเชื่อว่าประเทศไทยการจัดการศึกษาพิเศษ ไม่ได้ด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ถึงแม้สิ่งเราจะได้รับงบฯ น้อย แต่เราจะต้องจัดการศึกษาพิเศษให้ดีที่สุด
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในส่วนของการแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนการศึกษาพิเศษ แม้กระทั่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ คงต้องมีการมาหารรือร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในด้านการศึกษาพิเศษเข้ามาทำหน้าที่ รวมถึงต้องเป็นคนดีด้วย ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) เป็นผู้ดำเนินการกำหนดกฎเกณฑ์ คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามารับหน้าที่ ให้ดีและมีความเป็นธรรมมากที่สุด เนื่องจากกฎหมายได้ระบุชัดเจนว่าเป็นอำนาจของ สพฐ. ที่จะต้องเสนอให้ กพฐ.เป็นผู้พิจารณา ซึ่งตนคิดว่าสามารถดำเนินการได้ทันทีและหลายๆ คนก็เห็นด้วยว่าควรจะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำหน้าที่
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 17:35 น.