รู้ยังนโยบายของรัฐ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” UCEP รักษาฟรี 72 ชั่วโมง
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
โครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” รักษาฟรี 72 ชั่วโมงสิทธิผู้ป่วยสำคัญ ที่ควรรู้ก่อนให้ทัน ก่อนวันฉุกเฉิน!
ชวนมารู้จักสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน รักษาฟรีภายใน 72 ชั่วโมงกันค่ะ
รู้ไว้เป็นข้อมูลติดตัว กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินกับตัวเอง ครอบครัว ญาติ เพื่อน คนรู้จัก
จะได้ไม่ลืมที่จะใช้สิทธิรักษาฟรี เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางนะคะ
สิทธิ UCEP คืออะไร
ชื่อภาษาอังกฤษอาจจะจำยากไปสักหน่อย
พูดกันแบบเข้าใจง่ายๆก็คือ “สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาฟรีภายใน 72 ชั่วโมง”
เป็นนโยบายของรัฐค่ะ สำหรับกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน มีอาการวิกฤต ต้องเร่งรักษาด่วน
สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้
ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต
โดยต้องเป็น รพ.เอกชนที่ผู้ป่วยไม่ได้มีสิทธิอยู่แล้ว
ได้แก่ สิทธิบัตรทอง, สิทธิกองทุนประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ
ใครบ้างที่ใช้สิทธินี้ได้
เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้
และเป็น รพ.เอกชนนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์
ได้แก่ สิทธิบัตรทอง, สิทธิกองทุนประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ
อาการเจ็บป่วยที่เรียกว่าผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วมด้วย
4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6.มีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
สายด่วน ☎️ 1330
อีกหนึ่งสิทธิที่เราทุกคนมีสิทธิได้รับเมื่อเกิดกรณีเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
จำเป็นที่ต้องรู้! ไว้นะคะ เพราะหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมา
แล้วไม่มีใครแจ้งสิทธิกับเราในการเข้ารับการรักษา
เราจะได้สามารถแจ้งขอใช้สิทธิได้อย่างถูกต้องด้วยตัวเราเอง
ฉุกเฉินเกิดเหตุขึ้นมาจริงๆ อาจจะลน ทำอะไรไม่ถูก ไม่มีใครเตือนใคร
เพราะค่ารักษาบางครั้งก็ไม่ใช่เงินน้อยๆเลย ยิ่งเป็นเคสฉุกเฉินเราอาจจะไม่สามารถเดินทางไปรับการรักษากับ รพ. ที่เรามีสิทธิรักษาอื่นๆอยู่ได้ทัน
จำเป็นต้องเข้า รพ. ที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อรักษาชีวิตเอาไว้
ดังนั้น สิทธิประโยชน์ของตัวเราเอง เราต้องรู้เพื่อประโยชน์ของเราเองนะคะ
ปล.ข้อมูลสำคัญ และมีประโยชน์ ฝากแชร์ให้ทราบโดยทั่วกันด้วยนะคะ : )
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: https://medium.com
สพฉ. เปิดศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต UCEP Coordination Centerอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและโรงพยาบาล ในการคัดแยกอาการของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่จะเข้ารับบริการตามนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ UCEP รักษาฟรี 72 ชั่วโมง เลขาสพฉ.เผยวันที่1เม.ย. ที่ผ่านมามีผู้ป่วยใช้บริการสิทธิ UCEP 25เคส พร้อมแจกข้อมูล 9 ข้อควรรู้ก่อนใช้บริการ และย้ำกลุ่มอาการที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต แนะประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินโทร 1669เพื่อขอรับบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ภายหลังจากที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สมาคมโรงพยาบาลเอกชน วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแถลงข่าว“นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา วันนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ออกเปิดเผยข้อมูลถึงแนวทางในการดำเนินงานในส่วนของสพฉ.ที่จะเตรียมไว้รองรับการใช้บริการของประชาชน
โดย ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสพฉ. ระบุว่า สพฉ. ได้จัดวางระบบการให้บริการประชาชนตามนโยบาย UCEP โดยได้ทำการจัดตั้งศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ศคส.สพฉ.) หรือ UCEP Coordination Center ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและโรงพยาบาลเอกชนในกรณีมีปัญหาในการคัดแยกอาการของผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งประชาชนและโรงพยาบาลสามารถโทรเข้ามาที่ศูนย์ ศคส.สพฉ. ได้ที่เบอร์ 02- 872- 1669 ซึ่งเมื่อวานที่ผ่านมา (1เม.ย.) ศูนย์ก็ได้เริ่มการทำงานอย่างเป็นระบบและได้ประสานช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตผ่านระบบUCEP ไปทั้งหมด25 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า15ราย ผู้ป่วยจากสิทธิประกันสังคม 3ราย ผู้ป่วยจากสิทธิข้าราชการ 4ราย และผู้ป่วยจากกองทุนอื่นอีก 3 ราย โดยตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ประชาชนสามารถใช้บริการตามนโยบายนี้ได้ทันที นอกจากนี้แล้วเรายังได้จัดทำข้อมูลเผยแพร่ในชื่อชุด 9 ข้อควรรู้ก่อนใช้สิทธิ์ UCEPให้ประชาชนไว้ใช้ศึกษาก่อนเพื่อทำความเข้าใจก่อนใช้สิทธิ UCEP ซึ่งชุดข้อมูลมีรายละเอียดดังนี้
1. UCEP คืออะไร UCEP คือ นโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน(กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) และในอนาคตจะขยายไปยังกองทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอันจะทําให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับ การคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการ อย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคและความเสี่ยงของการดูแลรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต
2. ใครบ้างที่ใช้สิทธินี้ได้ ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้อง เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้และเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์ โดยเริ่มที่สามกองทุนก่อน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ,กองทุนประกันสังคม,กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
3. เจ็บป่วยฉุกเฉินแค่ไหนถึงจะใช้สิทธิUCEP ได้ ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ กพฉ.ประกาศกำหนด และ รายละเอียดเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ สพฉ. กำหนดกรณีกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต คือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
4. ขั้นตอนในการใช่สิทธิ์ UCEP เป็นอย่างไร ประชาชนทุกคนควรตรวจสอบสิทธิพื้นฐานการรักษาพยาบาลของตนเองในเบื้องต้นว่าเป็นสิทธิอะไร เช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือหากไม่ทราบ ให้ทำการขอตรวจสอบสิทธิ ณ รพ.ทุกแห่ง หรือ สำนักงานเขตภายในกรุงเทพมหานคร กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิให้แจ้ง รพ.ให้รับทราบว่าขอใช้สิทธิUCEP โรงพยาบาลดำเนินการประเมินผู้ป่วยตามแนวทางทีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด(Preauthorization)ในกรณีมีปัญหาในการคัดแยกให้ปรึกษา ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง. หมายเลข 02-8721669 เมื่อโรงพยาบาลดำเนินการประเมินผู้ป่วยแล้ว จะแจ้งผลการประเมินให้กับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยรับทราบผลการประเมิน หากผลการประเมินเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการตามระบบ UCEP โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต กรณีผลการประเมินไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หากต้องการรักษาที่โรงพยาบาลเดิม ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเอง
5. ในกรณีที่มีข้อถกเถียงเรื่องอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินว่าเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่นั้นจะดำเนินการอย่างไร ในกรณีนี้ โรงพยาบาลเป็นผู้คัดแยกผู้ป่วยตามแนวทางทีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด(Preauthorization)ในกรณีมีปัญหาในการคัดแยกให้ปรึกษา ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
6. รูปแบบการทำงานของ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ทำงานอย่างไร ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องผ่านได้ทางไหน ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(ศคส.สพฉ.) มีการดำเนินงานดังนี้ ดำเนินการตรวจสอบประเมินความถูกต้องเหมาะสมในการPreauthorization และการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลเอกชนเมื่อมีผู้ป่วยเข้าระบบ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) จะแจ้งให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วย ติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนพ้นภาวะวิกฤตจนสามารถย้ายไปโรงพยาบาลคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ ระบบคัดแยกความเจ็บป่วยฉุกเฉิน (Preauthorization)โดยสามารถ ติดต่อได้ที่ 02 872 1669
7. หากมีข้อโต้แย้งเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะใช้เวลานานหรือไม่ในการพิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา กรณีที่มีปัญหาการตัดสินการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต. แพทย์ประจำศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( ศคส.สพฉ.) ร่วมกับวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย จะประเมินภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยภายใน 15 นาที โดยคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติให้ถือเป็นที่สุด
8. เมื่อรักษาครบ 72 ชั่วโมงแล้ว กระบวนการขั้นตอนส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อในโรงพยาบาลจะดำเนินการอย่างไร ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) รับทราบว่ามีผู้ป่วยวิกฤตเข้าระบบ เมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีการประเมินและบันทึกการประเมินผู้ป่วยในระบบโปรแกรม Preauthorization และ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) จะแจ้งต่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วย เพื่อเตรียมการรับย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบปกติให้ได้ทันภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เมื่อครบ 72 ชั่วโมงแล้วหรือพ้นภาวะวิกฤตแล้ว
9. หากประสานไปยังโรงพยาบาลต้นทางที่ผู้ป่วยมีสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่แล้วรพ.แจ้งว่าไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย จะมีการดำเนินการเช่นไร และหากมีค่าใช้จ่ายใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) จะแจ้งไปยังกองทุนต่างๆเพื่อให้ดำเนินการตามเงื่อนไขของแต่ละกองทุน
“แนวทางนี้กำหนดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เราทุกหน่วยงานได้เตรียมพร้อมในการดูแลประชาชน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประชาชนเองก็จะต้องดูแลตนเองให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เสี่ยงต่อการเจ็บหรือป่วย แต่หากเมื่อใดที่เจ็บหรือป่วยฉุกเฉินวิกฤตระบบที่เราได้ช่วยกันดำเนินการขึ้นมาก็พร้อมอย่างเต็มที่ในการดูแล หากประชาชนชนท่านใดเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เราจะเข้าให้การช่วยเหลือเพื่อส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ได้รับการรักษาตามสิทธิUCEP อย่างทันท่วงที” ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลจาก :: สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)