ตั้งเป้า 4 ก.ย.แผนปฏิรูปการศึกษาต้องเกิด
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ตั้งเป้า 4 ก.ย.แผนปฏิรูปการศึกษาต้องเกิดกอปศ.ตั้งเป้าทำคลอดแผนปฏิรูปการศึกษา 4 ก.ย.ต้องออก พร้อมเสนอ ครม. เหลืออีก 10 วันรับฟังความเห็น เชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความเห็นเพิ่มเติม
วันนี้(21 ส.ค.)รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กอปศ.วันที่ 21 ส.ค. ที่ประชุมได้รับรายงานการรับฟังความคิดเห็นแผนปฏิรูปฯด้านการศึกษาทางเว็บไซต์ ซึ่งขณะนี้มีผู้เสนอความเห็นมาบ้างแล้ว แต่คณะอนุกรรมการก็ยังอยากให้ผู้สนใจเสนอความเห็นต่อร่างแผนปฏิรูปฯเพิ่มเติมอยู่ สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิรูปฯก็ยังคงใน 6 เรื่องเช่นเดิม คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ครู การจัดการเรียนการสอน เด็กเล็ก ลดความเหลื่อมล้ำ และโครงสร้าง นอกจากนี้ยังได้มีการหารือถึงแผนง่านการทำงานเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่จะเสนอเป็นมาตรการระยะเร่งด่วนที่ กอปศ.จะปฏิบัติหน้าที่ถึงวันที่ 30 พ.ค.62 จะทำให้เกิดรูปธรรมในการขับเคลื่อนการปฏิรูปเรื่องใดบ้าง โดยเรื่องแรกที่ต้องทำให้สำเร็จก่อนคือ ต้องผลักดันให้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ให้ได้ เรื่องที่ 2 คือ ต้องมีกฎกระทรวงเพื่อทำให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดการศึกษา เรื่องที่ 3 ดิจิทัลแพลทฟอร์มที่จะเป็นระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา เรื่องที่ 4 ระบบการผลิตและคัดกรองครู เรื่องที่ 5 หลักสูตรฐานสมรรถนะ และ เรื่องสุดท้ายกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่ต้องทำให้ทันเพื่อให้กรรมการสามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อร่างพ.ร.บ.ผ่าน
“กระบวนการรับฟังความเห็นแผนปฏิรูปการศึกษาจะมีอยู่จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่ง ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ.ย้ำว่า จะต้องออกให้ได้ภายใน วันที่ 4 กันยายน นี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด สำหรับเรื่องโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากเรื่องหนึ่งนั้น จะมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นตัวกำหนดกลไกที่เป็นโครงสร้างสำคัญเพื่อรองรับการทำงานปฏิรูปไว้ 2-3 เรื่อง โดยส่วนที่เป็นหลักสำคัญคือ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการชี้นำทิศทางการทำงาน และรองรับข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจัดทำ ดำเนินการ และตรวจสอบดำเนินการแผนการศึกษาแห่งชาติ และอีกส่วนที่มีการปรับปรุงซึ่งเป็นจุดเน้นของการปฏิรูปการศึกษา คือ การทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ โดยโครงสร้างของโรงเรียนต้องมีความเป็นอิสระ ซึ่งจะต้องออกกฎกระทรวงเพื่อใช้บังคับโดยเร็ว”รศ.นพ.จิรุตม์กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2561 เวลา 17.00 น.