ปฏิรูปการศึกษา: ตระหนักไม่พอ ต้องตระหนกกันทั้งประเทศด้วย!
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ปฏิรูปการศึกษา: ตระหนักไม่พอ ต้องตระหนกกันทั้งประเทศด้วย!ผมนั่งตั้งวงสนทนากับศาสตราจารย์จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้ข้อสรุปจากท่านว่า
"การปฏิรูปการศึกษาของไทยเป็น Mission Impossible แต่เราไม่ทำไม่ได้ ไม่สำเร็จไม่ได้ เพราะถ้าไม่ทำ ประเทศชาติจะเสียหายหนัก"
วันนี้อาจารย์จรัสอายุ 84 แล้ว แต่ความคิดความอ่านยังแม่นยำคล่องแคล่ว อีกทั้งความมุ่งมั่นก็เต็มเปี่ยม
ปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยคือทุกคนอยู่ใน "comfort zone" ของตัวเอง เพราะต้องการอยู่กับบรรยากาศที่คุ้นเคย ไม่ต้องการก้าวออกจาก "เขตปลอดภัยของตัวเอง" โดยไม่ตระหนักว่าหากไม่ยอมก้าวพ้นกรอบเดิมๆ จะไม่มีทางแก้อุปสรรคเก่าๆ ได้เลย
อาจารย์จรัสบอกผมว่า "มหาวิทยาลัยไทยเราไม่รู้สึกว่าต้องแข่งขันกับใคร และโกรธไม่เป็น ดูอย่างมาเลเซียซิ เขาโกรธที่เขาแพ้สิงคโปร์ ต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะอยู่แนวเดียวกับสิงคโปร์ให้ได้ แต่คนไทยเราโกรธไม่เป็น เรายังยึดหลักใจเย็นๆ ทุกเรื่อง ทำให้เราไม่สามารถข้ามพ้นปัญหาเก่าๆ ได้..." ตระหนักยังไม่พอ จะต้องตระหนกด้วย
อาจารย์จรัสบอกว่า "ต้องเอาเครื่องหมายไม้หันอากาศออกจากคำว่าตระหนัก เพราะเราต้องตกใจ ต้องตระหนกว่าเราอยู่ในสถานภาพที่อ่อนแอมากๆ แล้ว"
"ถ้าเราไม่ปรับปรุงตัวเอง เพื่อนบ้านจะแซงเรา เวียดนามแซงไปแล้ว อีกหน่อยถ้าเราไม่แก้ไขจริงจัง เขมรก็จะแซงเรา" หัวหน้าคณะกรรมการที่มีหน้าที่ยกเครื่องระบบการศึกษาของประเทศบอกผม
ครั้งนี้จะต้องปรับเปลี่ยนใหญ่ แก้ไขเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้อีกต่อไป
เริ่มต้นต้องให้ครูสามารถสอนวิชาต่างๆ ได้ด้วยการเข้าไปสู่การรู้ทันดิจิทัลหรือ digital literacy
"เด็กสมัยนี้ 4-5 ขวบก็ใช้นิ้วจิ้มหาความรู้ตามที่ตัวเองต้องการได้แล้ว ทางเลือกมีมากมาย และข้อมูลที่ได้มาก็ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวอักษรอย่างเดียว มีทั้งภาษาทั้งภาพทั้งเสียงทั้งความเคลื่อนไหว และยังมีอารมณ์ของคนด้วย การสื่อสารเปลี่ยนไปอย่างมาก" อาจารย์จรัสบอก
ประเด็นใหญ่คือทำอย่างไรให้เด็กในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลได้เหมือนเด็กในเมือง
วิธีหนึ่งคือหากมีคนบริจาคมากรายพอก็จะสามารถซื้อสมาร์ตโฟนพื้นฐานราคาเครื่องละประมาณ 3,000 บาทจำนวนหนึ่งไปไว้ในห้องสมุดในต่างจังหวัด ให้เด็กสามารถยืมไปใช้ได้แทนที่จะยืมหนังสือ หันมายืมสมาร์ตโฟนซึ่งสามารถช่วยให้นักเรียนหาความรู้ได้ในหลายๆ รูปแบบ
ปัญหาใหญ่คือแม้ในเมืองจะมีหลักสูตรมากและมีแพลตฟอร์มหลากหลาย แต่ไปไม่ถึงเด็กในชนบทห่างไกล
ท่านบอกว่าจะต้องใช้ความพยายามพิเศษจึงจะทำให้เด็กต่างจังหวัดเข้าถึงแพลตฟอร์มให้มากที่สุด
จึงเสนอให้มีการตั้ง Digital Platforms เพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ
รัฐมนตรีศึกษา ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ตั้งคณะกรรมการเพื่อทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นทางปฏิบัติ ซึ่งน่าจะออกมาในรูปของ PPP (Private-Public Partnership) หรือหุ้นส่วนรัฐและเอกชนเพื่อทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ถ้าบริษัทใหญ่ๆ มารวมตัวกันทำกิจการร่วมเพื่อการนี้โดยรัฐให้การสนับสนุน
"แค่ปลดล็อก อย่าไปกันเขาเท่านั้นเอง เรื่องดีๆ อย่างนี้ก็จะเกิด"
แนวคิดของการปฏิรูปอีกด้านหนึ่งคือ "คืนศรัทธาให้เด็ก คืนศรัทธาให้ครู"
ซึ่งหมายความว่าจะต้องกลับไปให้ความสำคัญแก่ครูและนักเรียน ไม่ใช่มุ่งแต่ใช้งบประมาณไปกับการสร้างตึกหรือปรับโครงสร้างเฉพาะในส่วนกลางเท่านั้น
การจะทำให้การศึกษารับใช้สาธารณะได้จะต้องสร้างค่านิยมให้นักศึกษาทุกคนได้รู้ว่า ต้องเอาประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว
ในฐานะที่เคยเป็นอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์จรัสบอกว่า "เช่นถ้ามหาวิทยาลัยทุกแห่งประกาศ signature ของตัวเอง เช่นจุฬาฯ ประกาศว่าคนที่จบจุฬาฯ จะไม่โกง จะดีกว่านี้เยอะเลย"
"มหาวิทยาลัยต้องพอเพียง ความฟุ่มเฟือยไม่ใช่คำตอบ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านพระราชทานหลักเศรษฐกิจพอเพียงไว้ดีมากอยู่แล้ว ตอนฉลอง 100 ผมถามจุฬาฯ ว่าเอาไหม เราประกาศนโยบายจุฬาฯ พอเพียง มีแต่คนอมยิ้มเพราะยังฟุ่มเฟือยกันอยู่ แต่หากประกาศว่าอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้าจุฬาฯ จะพอเพียง อย่างนั้นพอจะเป็นไปได้...."
มหาวิทยาลัยใดจะเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำจะต้องนำด้วยจริยธรรม เรื่องของวิชาการเป็นเพียงส่วนเดียว แต่จริยธรรมต้องมาก่อน-อดีตอธิการบดียืนยันเช่นนั้น
ตราบเท่าที่ผู้เกี่ยวข้องในวงการศึกษา (ซึ่งหมายถึงเกือบทุกคนในประเทศ) ยังไม่ "ตระหนก" และไม่รู้จักโกรธตัวเองที่สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ ตราบนั้นคำว่าปฏิรูปการศึกษาก็คงเป็นเพียงคำขวัญสวยหรูที่จบลงด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่าเท่านั้นเอง
จงลุกขึ้นตระหนกกันทั้งประเทศได้แล้ว!
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 00:01 น.