เปิดสัญญา “เงินกู้ ช.พ.ค.” ข้อไหนทำครูท้อแท้
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เปิดสัญญา “เงินกู้ ช.พ.ค.” ข้อไหนทำครูท้อแท้โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. หรือโครงการเงินสวัสดิการช่วยเหลือและสงเคราะห์ครูสมาชิกและครอบครัว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรด้านการศึกษา ร่วมกับธนาคารออมสิน เพื่อปล่อยกู้ให้ครูและบุคลากรด้านการศึกษา ปัจจุบันมีอยู่ 7 โครงการ จนถึงขณะนี้ มีผู้กู้เงินมากกว่า 483,000 คน วงเงินกู้เงินมากกว่า 410,000 ล้านบาท
เสียงสะท้อนของครูจำนวนหนึ่งเพื่อขอพักชำระหนี้ ถูกตั้งคำถามว่าต้นเหตุ เกิดจากสาเหตุของการเป็นหนี้ หรือเงื่อนไขจากการชำระหนี้สิน
ข้อมูลจากธนาคารออมสิน อ้างถึงครูส่วนใหญ่ร้อยละ 99 ยังคงมีวินัยทางการเงินดี ชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข หรือข้อกำหนดตามสัญญาการกู้เงิน แต่ครูที่เรียกร้องให้พักชำระหนี้มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 จากจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด มั่นใจว่าหลังจากวันที่ 1 สิงหาคม ลูกหนี้ครูส่วนใหญ่จะผ่อนชำระหนี้ตามปกติ
ไทยพีบีเอสได้ข้อมูลจากเอกสารทำสัญญากู้เงินจากครูคนหนึ่ง ที่เปิดเผยถึงการทำสัญญาเงินกู้ ในโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเสียดอกเบี้ย ระบุในโครงการนี้ อยู่ที่ MLR-0.5 ต่อปี และต้องชำระเงินเป็นงวดรายเดือน
แต่สิ่งประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากโครงการนี้คือ มีข้อความที่ระบุถึงภายหลังจากการทำสัญญา หากผู้ให้กู้ หรือในความหมายนี้คือ ธนาคารออมสินประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ผู้กู้ต้องยินยอมให้คิดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญานี้ ในอัตรา MLR หรือดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 5.5 - 6.5 ต่อปี และนั่นหมายถึงหากผ่อนชำระเงินกู้ ซึ่งถูกยืดอายุการชำระเงินได้เงิน 30 ปี ดอกเบี้ยจะถูกขยายวงเงินมากขึ้น
ข้อมูลจากครูจำนวนหนึ่ง เปิดเผยว่า ถ้าหากเงินต้นครูกู้ 2 ล้านบาท แต่เมื่อรวมดอกเบี้ยร้อยละ5.5 - 6.5ต่อปี ถ้าระยะเวลา 30 ปี รวมต้นดอกก็จะประมาณ 6 -7 ล้านบาท
อีกประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้องจากกลุ่มครูเหล่านี้ คือเรื่องวงเงินประกันอุบัติเหตุ ซึ่งหากเทียบเคียงกับการทำประกันทั่วไป สามารถจ่ายเบี้ยประกันปีต่อปีได้ แต่เสียงสะท้อนจากครูที่เข้าโครงการ ช.พ.ค.คือ ผู้กู้เงินต้องจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้ามีอายุสัญญาทำประกันที่ 9 ปี หมายถึง หากวงเงินกู้ 3 ล้านบาท ต้องชำระเบี้ยประกัน 190,000 บาท
นอกจากนั้นข้อกำหนดในการกู้คือ การให้ครูนำเงิน ช.พ.ค. ไปค้ำประกัน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบ MLR 0.5 - 0.85 และหักร้อยละ 1 เข้าโครงการ ช.พ.ค. หากผิดนัดชำระหนี้จะมีเบี้ยปรับร้อย 8 ของเงินต้นคงเหลือ
และแม้ว่าก่อนหน้านี้ การหารือปัญหาเงินกู้ ช.พ.ค.ได้ข้อสรุปมาก่อนหน้านี้แล้ว ว่าธนาคาออมสินจะปรับลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 และงดรับเงินค่าบริหารจัดการที่ธนาคารออมสินเคยหักให้ ส.ก.ศ.ค. ปีละประมาณ 2,500 ล้านบาท แต่ก็ไม่ได้ทำข้อเรียกร้องเพื่อขอให้พักชำระหนี้ถูกยุติลง แต่จะยิ่งบานปลาย กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดข้อเรียกร้องครั้งใหม่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: สำนักข่าวไทยพีบีเอส วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เวลา 19:26 น.