ถก แก้กฎหมาย ก.ค.ศ.โละงานบริหารบุคคลให้ต้นสังกัด
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ถก แก้กฎหมาย ก.ค.ศ.โละงานบริหารบุคคลให้ต้นสังกัดบอร์ด ก.ค.ศ.ถก แก้กฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เตรียมโละงานบริหารบุคคลให้ต้นสังกัดดำเนินการ ชี้ อนาคต ก.ค.ศ.ทำหน้าที่แค่กำกับนโยบายเท่านั้น
วันนี้ (16 ก.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยให้เปิดรับสมัครสอบครูผู้ช่วยทั่วไปประจำปี 2561 ในประเด็นการประกาศรายชื่อสาขาวิชาที่ขาดแคลน โดยก่อนหน้าที่ก.ค.ศ.ได้อนุมัติจำนวนสาขาขาดแคลนไปแล้ว จำนวน 42 สาขา ซึ่งพบปัญหากรณีตกหล่นสาขาวิชาขาดแคลน 1 วิชาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นครสวรรค์ โดยที่ประชุมไม่ได้มีมติแก้ไขอะไร แต่ให้ใช้วิธีเชิงบริหารจัดการ เพราะยังไม่ได้รับสมัคร ซึ่ง กศจ.ไหนที่ประกาศไม่ทันก็ให้ประกาศใหม่ตามจำนวนที่ขอมา และเท่าที่ทราบขณะนี้มีตกหล่นแค่เพียงจังหวัดเดียว ทั้งนี้เข้าใจว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ กศจ. อาจจะมีความเคลื่อนของข้อมูล เช่น สพฐ.รายงานจำนวนสาขาขาดแคลนมาอีกตัวเลข แต่ กศจ.ประกาศอีกตัวเลขหนึ่ง เป็นต้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงการปรับแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์กับปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาเรามีคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในมาตรา 44 เข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆทั้งเรื่องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น เช่น การโยกย้าย การทุจริต เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเรามีกฎหมายจริง คือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 อยู่แล้วก็ต้องมาแก้ไข อีกทั้ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็ใช้มานานกว่า 15 ปีด้วย สำหรับการปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเบื้องต้นจะเป็นเรื่องการบริหารงานบุคคล เช่น หากสพฐ.ต้องการจะอนุมัติย้ายครู หรือ ต้องการบรรจุครูในโรงเรียนต่างๆกี่คน ต่อไปอำนาจเหล่านี้จะไปอยู่ที่ต้นสังกัดแทนที่จะนำเข้า ก.ค.ศ.เป็นผู้พิจาณาอนุมัติ เป็นต้น ส่วนการลงโทษทางวินัยตนยังไม่ขอลงรายละเอียดมากขอให้คณะทำงานไปจัดทำก่อน โดยต่อจากนี้ ก.ค.ศ.จะทำหน้าที่เป็นหน่วยกำกับเชิงนโยบายเท่านั้น ทั้งนี้การปรับแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์หลังจากนั้นจะให้คณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) พิจาณาอีกครั้ง ก่อนนำเข้าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบภายในเดือนกันยายนนี้
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม 2561 เวลา 16.07 น.