ป.ตรีตกงาน1.7แสนคน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ป.ตรีตกงาน1.7แสนคนจากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ย้อนหลัง 5 ปี (2556-2560) พบว่ามีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีปีละประมาณ 300,000 คน ขณะที่ข้อมูลการจ้างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายอดคนตกงานจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมากถึง 170,900 คน คนอุดมศึกษาเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้กันบ้าง
เริ่มกันที่ สุภาภรณ์ พวงพิกุล“ฝ้าย” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการบริหารท้องถิ่น (รัฐประศาสนศาสตร์) คณะวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (มจ.) บอกว่า สาเหตุของการตกงานอาจจะมาจากหลายปัจจัย เช่น สภาพเศรษฐกิจ การเลือกงาน หรือค่านิยมผิดๆ ที่คิดว่าใบปริญญาคือทุกอย่าง จริงๆแล้วใบปริญญาไม่ใช่ตัวการันตีว่าจะต้องมีงานทำ ซึ่งใบปริญญาเป็นเพียงใบเบิกทางเท่านั้น ความสามารถของแต่ละบุคคลต่างหากที่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะมีงานทำหรือไม่ ถ้ามีความสามารถพอผู้ประกอบการก็จะต้องการเราเอง ฝ้ายก็กำลังจะจบการศึกษาหรือว่าที่บัณฑิตใหม่อีกคนที่จะต้องไปแข่งขัน เพื่อให้ไม่ตกงานและอยากจะให้ผู้ประกอบการให้โอกาสนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ด้วย
วุฒิ” วุฒิพงษ์ แพ่งโยธา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา บอกว่า จากสภาพเศรษฐกิจทั่วไปที่ไม่ค่อยดี จึงทำให้ผู้ประกอบการ หรือบริษัทต่าง ๆไม่ค่อยจะรับคนเข้าทำงานมากนัก ทำให้คนตกงานมีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งการเข้าทำงานในยุคนี้จะต้องแข่งขันกัน ด้วยสาเหตุที่การรับพนักงานในแต่ละตำแหน่งน้อยลง ดังนั้นนักศึกษาที่จะจบระดับปริญญาตรีจะต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นคนขยัน เป็นผู้ใฝ่รู้ พัฒนาตัวเองให้ทุกด้านและทำอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าถ้านักศึกษามีคุณภาพแล้วเมื่อจบการศึกษาจะมีงานทำแน่นอน เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าตลาดแรงงานต้องการคนที่มีคุณภาพเข้าทำงาน และจากที่ได้เข้าไปดูข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่ายังมีตำแหน่งงานที่ว่างอีกมาก หากเราพร้อม มีความขยัน และไม่เลือกงาน เชื่อว่ามีงานแน่นอน
ประภัสสร แสนคำ “ปลั๊กกี้” นักศึกษาชั้นปี 4 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น บอกว่า รู้สึกไม่ค่อยดีกับเรื่องตกงานกันมาก และเท่าที่ดูแนวโน้มคนตกงานก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสาเหตุของการตกงานมาจากหลายปัจจัย เช่น เลือกงาน บางครอบครัวมีฐานะดีหน่อยก็เรียนเพื่อเอาปริญญาเท่านั้น โดยไม่ต้องการทำงาน หรือบางคนเรียนในสาขาที่ไม่ชอบพอจบออกมาจึงไม่อยากที่จะทำงานในสาขาที่เลือกเรียน อยากให้เงินเดือนสูงๆ ขณะที่บางสาขาที่จบการศึกษาออกมาต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและต้องผ่านด้วยถึงจะทำงานได้ อย่างไรก็ตามสถานประกอบการทุกแห่งต้องการคนที่มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะหลายด้าน และกล้าแสดงออก ดังนั้นว่าที่บัณฑิตจะต้องสะสมสิ่งต่าง ๆเหล่านี้ให้มีมากที่สุด และต้องไม่เลือกงาน หรือเงินเดือนสูงมากนัก หากได้งานอะไรก็ควรที่จะทำไปก่อน เพื่อที่จะได้เพิ่มประสบการณ์ให้แก่ตัวเอง
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 มิถุนายน 2561 เวลา 07.32 น.