ชาวมหาวิทยาลัยรุมค้านรวมวท.-สกอ.
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ชาวมหาวิทยาลัยรุมค้านรวมวท.-สกอ.ชาวมหา’ลัยรุมค้านรวมวท.กับสกอ. จวกเคยถามคนอุดมศึกษาว่าอยากไปรวมด้วหรือไม่ “สมพงษ์”ชี้ไม่ควรปล่อยให้นักฝัน 3-4 คนมาปู้ยี้ปู้ยำ จี้ควบรวมมีปัญหาใครรับผิดชอบ เล็งหารือในทปอ.
วันนี้( 23 พ.ค.)ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ในฐานะคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา กล่าวถึงกรณีที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ระบุว่า ได้หารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องการควบรวมวท. กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา( สกอ.)และนายกฯ ให้ใช้ชื่อกระทรวงใหม่ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และการอุดมศึกษา ว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการควบรวมดังกล่าว เพราะอุดมศึกษาต้องแยกออกมา เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลิตกำลังคนในการพัฒนาประเทศ แต่ก็เข้าใจว่ารัฐบาลคงไม่อยากให้มีการตั้งกระทรวงเพิ่ม หากมองในแง่ดีการควบรวม วท. สกอ. และหน่วยงานด้านการวิจัยเข้าด้วยกันจะช่วยเสริม สนับสนุนการสร้างงานวิจัยให้มีความคึกคักมากขึ้น แต่จะทำให้การดำเนินการเรื่องนี้ช้าออกไป อีกทั้งคนในวท. และคนในอุดมศึกษา ก็จะต้องปรับตัวใหม่ ขณะเดียวกันรัฐมนตรีที่มาทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้จะต้องรู้ขอบเขตการกำกับดูแลว่าเรื่องงานวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นอำนาจของรัฐมนตรี แต่การกำกับอุดมศึกษา จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และมหาวิทยาลัยไม่ได้มีแค่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่หากไม่เข้าใจตรงนี้ก็อาจมีปัญหาได้
ศ.ดร.สมคิด กล่าวต่อไปว่า ส่วนการปรับแก้กฎหมายจะเสร็จทันก่อนเลือกตั้งหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะตอนยกร่างกฎหมายคณะทำงานฯทำไว้ 3 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ร่างพ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา และร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่งในส่วนของร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา คงไม่ต้องไปปรับอะไร เพราะเป็นเรื่องของอุดมศึกษาโดยเฉพาะ ส่วนเหลือที่ต้องปรับคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจะนำงานอุดมศึกษาไปไว้ที่ใด ควรพิจารณาประวัติศาสตร์ด้วย เดิมเป็นทบวงมหาวิทยาลัย และต่อมาก็ยุบรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่อุดมศึกษาไม่ได้รับความสนใจ ทำให้คุณภาพอุดมศึกษาตกต่ำ จนต้องมาร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา มีการทำประชาพิจารณ์จากชาวมหาวิทยาลัยมาตลอด 2 ปี จนตกผลึกว่าควรแยกเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา ดังนั้นควรให้เกียรติและเคารพต่อการตัดสินใจของชาวมหาวิทยาลัยด้วย ขณะที่ วท.ดำเนินกา 2-3 เดือน แล้ววท.ถามความเห็นของชาวมหาวิทยาลัยแล้วหรือไม่ว่าต้องการอยู่กับวท.หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานใดที่ควบรวมแล้วประสบความสำเร็จ และหากนำมหาวิทยาลัยไปรวมกับวท.แล้วมีความเสียหาย อยากถามว่าใครจะรับผิดชอบ ตนจึงไม่เห็นด้วยที่จะไปรวมกับวท.
“ชาวมหาวิทยาลัยควรตื่นตัวกับการควบรวมครั้งนี้ ไม่ควรปล่อยให้นักฝัน 3-4 คนมาปู้ยี้ปู้ยำสิ่งที่เราดำเนินการมา จากชื่อกระทรวงก็เห็นแล้วว่างานอุดมศึกษา ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง ไม่มีศักดิ์ศรี คิดจะนำไปวางไว้ตรงไหนก็ได้โดยไม่ถามชาวมหาวิทยาลัย การดำเนินการเรื่องนี้ควรทำอย่างรอบคอบ ไม่ควรเร่งหาผลงานเพื่อให้นายกฯพอใจ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) กล่าวว่า การที่งานการอุดมศึกษาไปอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ มีขนาดเทอะทะ ทั้งมีความแตกต่าง การศึกษาระดับพื้นฐานและอาชีวศึกษา จึงเกิดแนวคิดแยกตัวออกมาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและคุณภาพการศึกษา ข้อเสนอให้อุดมศึกษากับวท.รวมกันนั้น ส่วนตัวมองว่าน่าสนใจและเป็นการมองภาพรวมงานวิจัยของประเทศของรัฐบาล เพราะหน่วยงานวิจัยทุกแห่งของประเทศ ต้องการนักวิจัย และแหล่งรวมนักวิจัยที่มากที่สุดในประเทศคือมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาอยู่คนละกระทรวง แต่ก็ขาดกันไม่ได้ ต้องพึ่งพากัน การรวมกันอาจทำให้พูดคุยกันง่ายขึ้น เพราะหน่วยงานวิจัยเป็นเจ้าของทุนวิจัย ส่วนมหาวิทยาลัยมีนักวิจัย 2 ฝ่ายต้องพึ่งพากัน เรื่องนี้ควรต้องมีการหารือกันอีกครั้งในที่ประชุมอธิการบดีแห่งปร้ะเทศไทย( ทปอ. )เพราะ ที่ผ่านมา ทปอ. ผลักดันการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาอยู่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ก็ควรมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง
ด้านศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวว่า เรื่องนี้ขอเวลาศึกษาข้อมูลก่อน เพราะเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นมาเร็วมาก
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 23 พฤษภาคม 2561 เวลา 16.07 น.