สพฐ.ระดมสมองเคาะสาขาขาดแคลนสอบครูผู้ช่วย ปี2561
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ.ระดมสมองเคาะสาขาขาดแคลนสอบครูผู้ช่วย ปี2561สพฐ. ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดประเภทวิชาและสาขาวิชาขาดแคลนในการสอบแข่งขันครูผู้ช่วย ปี 2561
วันนี้ (15 พ.ค.) นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมแสดงความคิดเห็น เพื่อกำหนดประเภทวิชาและสาขาวิชาขาดแคลนในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2561 โดยมี นายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายบูรพาทิศ พลอยสุวรรณ์ รองเลขาธิการคุรุสภา รศ.ดร. ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ /ศึกษาศาสตร์ แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) นางสุปราณี นฤนาทนโรดม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ) ศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วมประชุมด้วย
นายบุญรักษ์ กล่าวว่า สพฐ. จะกำหนดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี 2561 จึงได้จัดการประชุมแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการกำหนด สาขาวิชาขาดแคลน ในการสอบแข่งขัน ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ซึ่งในปีที่ผ่านมาเมื่อมีการสอบบรรจุ สพฐ. ได้กำหนดสาขาวิชาที่ขาดแคลน หมายถึง สาขาวิชาที่เป็นความต้องการของโรงเรียน แต่ว่าทางสถาบันผู้ผลิตครูยังไม่ได้มีการผลิตออกมา หมายความว่าสาขาที่ต้องการยังไม่ได้มีครูที่มีใบประกอบวิชาชีพ รวมถึงสาขาวิชาเอกที่เปิดสอบแล้วมีคนจบน้อย หรือสอบไม่ได้ จึงหมดบัญชีตั้งแต่ต้น
“เพื่อให้ข้อมูลสาขาวิชาเอกที่ขาดแคลนเป็นไปตามความขาดแคลนจริง จึงได้เชิญผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 และศึกษาธิการจังหวัด ในจังหวัดที่แจ้งสาขาวิชาขาดแคลนซ้ำซาก รวมถึงสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และคณบดีคณะครุศาสตร์ /ศึกษาศาสตร์ จากสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรทางการศึกษาทั่วประเทศ มาเข้าร่วมประชุมเสนอความคิดเห็น โดยรวมกันพิจารณาว่า ข้อมูลสาขาวิชาที่ขาดแคลนซ้ำซาก เป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลนจริงหรือไม่ และควรกำหนดเป็นสาขาวิชาขาดแคลนในการสอบแข่งขัน ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี 2561 หรือไม่
พร้อมทั้งสรุปข้อมูลสาขาวิชาขาดแคลน และนำเสนอที่ประชุมให้อภิปรายร่วมกัน หลังจากนั้นจะได้นำผลสรุปนำเสนอ ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณาต่อไป”
เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ MGR Online เผยแพร่: วันที่ 15 พ.ค. 2561 เวลา 17:22 น.