หนี้ครู…แก้อย่างไรก็ไม่หมด? หวั่นอนาคตเด็กมืดมน!
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
หนี้ครู…แก้อย่างไรก็ไม่หมด? หวั่นอนาคตเด็กมืดมน!สัปดาห์นี้เอ่ยถึง “อาชีพครู” เรือจ้างราคาถูกที่สะสมหนี้จนกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ หาก “แม่พิมพ์” ยังไม่มีคุณภาพต่อไปเรื่อยๆ แล้วอนาคตเด็กไทยจะเป็นอย่างไร?
เป็นหนี้…ก็ต้องใช้ ถ้าไม่ใช้ก็กลายเป็นคนไม่มีเครดิต ที่สำคัญทัศนคติที่ว่าไม่มี…ไม่หนี…ไม่จ่าย...คงใช้ไม่ได้อีกต่อไปในยุคนี้…สมัยนี้!! เพราะสุดท้ายแล้ว คุณๆ ท่านๆ คงไม่สามารถทำมาหากินกันต่อไปได้อีก เพราะคงไม่มีเจ้าหนี้รายไหน ที่จะปล่อยให้ลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคม โดยไม่ตามทวงหนี้กันแน่นอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนที่เป็นหนี้เป็นคนที่มีฐานะในสังคมด้วยแล้ว อย่างกรณีของ “ข้าราชการครู” ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะถ้าไม่ใช้หนี้แล้วจะทำให้เด็กหันมาเชื่อถือได้อย่างไร?
เรื่องราวปัญหาการเป็นหนี้ของครูนั้น หากคุณๆ ท่านๆ ติดตามกระแสข่าวกันมา ก็จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีกันมาอย่างยาวนาน ที่แก้ไขกันอย่างไรก็ยังไม่จบไม่สิ้น ที่สำคัญอาชีพ “ครู” ยังเป็นหนี้มากที่สุดถึง 80% ในบรรดาข้าราชการไทย
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยให้ธนาคารออมสินเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาสารพัด แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ยังไม่ลงตัว จนกลายเป็นกระแสข่าวความขัดแย้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันไป ด้วยความที่ว่า…ปัญหานี้ได้กลายเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ด้วยอัตราเงินเดือนที่อาจไม่มากเพียงพอ ขณะที่รายจ่ายก็มีอยู่มากมาย เรียกง่ายๆ ว่า “รายได้ไม่พอกับรายจ่าย”
แล้วถ้ารายไหนไม่รู้จักกับคำว่า “พอเพียง” ใช้จ่ายเกินตัว เป็นหนี้ทบต้นทบดอก หาได้เท่าไหร่ก็ไม่พอใช้หนี้ กลายเป็นปัญหาของครอบครัวกันเข้าไปอีก ต้องยอมรับว่า...เวลานี้หนี้สินของครูมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นหนี้ของสถาบันการเงินในระบบ หรือหนี้นอกระบบ การกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู
หรือแม้แต่การกู้ยืมโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคคลากรทางการศึกษา หรือช.พ.ค. ที่พบว่าบรรดาครูที่ยังเป็นข้าราชการอยู่ในปัจจุบัน หรือครูที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว รวมกันแล้วก็ปาเข้าไปถึง 9 แสนคนทีเดียว รวมเป็นเงินกู้กว่า 4.18 แสนล้านบาท
โดย ช.พ.ค.จะทำโครงการโดยร่วมกับธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับบรรดาครูที่เป็นสมาชิก ช.พ.ค. ให้เข้ามากู้ยืมเงินผ่านโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ถึง 7 โครงการ ปรากฏว่าบรรดาหนี้เหล่านี้กลายเป็นหนี้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหนี้ครูที่ทำสัญญากับธนาคารออมสิน ที่มีมากถึง 4.75 แสนบัญชี
แม้ล่าสุด!! ธนาคารออมสินและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ลงนามร่วมกันที่จะเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยธนาคารออมสินได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาใหม่ ก็ตามเถอะ ธนาคารออมสินจะนำเงินค่าบริหารจัดการ 0.5-1% ที่เคยจ่ายเข้ากองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการของ ช.พ.ค. ไปใช้ปรับโครงสร้างหนี้และลดดอกเบี้ยให้กับครูที่มีวินัยในการชำระเงินแทน
ณ เวลานี้ธนาคารออมสินการันตีว่า มีข้าราชการครูกว่า 90% ที่มีวินัยทางการเงิน ซึ่งในส่วนนี้จะลดดอกเบี้ยจากปัจจุบันที่ครูต้องเสียอยู่ในอัตรา 5% แทน และยังนำส่วนต่างไปลดเงินต้นด้วยอีกต่างหาก แต่หากเป็น “ครูที่มีปัญหาวินัยการเงิน” ตรงนี้ก็จะหันมาใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้แทน โดยต้องคุยกันเป็นรายกรณีว่า จะปรับโครงสร้างหนี้กันอย่างไร?? ซึ่งก็มีหลายนแนวทางที่จะเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ส่วนเงินที่ธนาคารออมสินหักจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง เพื่อชำระหนี้แทนครูที่มียอดรวมกันกว่า 10,000 ล้านบาท ก็ต้องไปหารือในรายละเอียดกันให้ชัดว่าจะจัดการกันอย่างไร
นี่…เป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้นที่ทั้งฝ่าย “ครูที่เป็นลูกหนี้” และ “ฝ่ายเจ้าหนี้อย่างธนาคารออมสิน” ที่ได้บรรลุข้อตกลงในบางส่วนกันไปบ้าง เพื่อบรรเทาปัญหาภาระอันยิ่งใหญ่สำหรับ “ข้าราชการครู” แต่เชื่อเถอะ…อย่างที่บอก เมื่อเวลาเปลี่ยนไป แต่ถ้าสารพัดสารพันปัญหาถาโถมเข้าใส่ “ครู” เข้าให้อีก ปัญหาหนี้สินก็ย่อมต้องเกิดขึ้นอีกแน่!!
ดังนั้น…แนวทางการแก้ไขปัญหาก็ต้องคิดกันใหม่ทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามกันมาอีก ทั้งการยกระดับศักดิ์ศรีของอาชีพ “ครู” ซะใหม่ ให้เป็นอาชีพที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝันอยากจะเป็นเหมือนหมอ เหมือนวิศวกร และอีกมากมายสารพัดอาชีพ
ที่สำคัญ…จะทำอย่างไรให้ “ข้าราชการครู” มีผลตอบแทนหรือมีรายได้ที่มากพอกับการ “ยังชีพ” เพราะอย่าลืมว่า... ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ และยังเป็นอาชีพที่สร้างคน หาก “แม่พิมพ์ไม่มีคุณภาพ” แล้วจะสร้างคนที่มีคุณภาพออกมาได้อย่างไร?
เรื่องนี้…เป็นเรื่องที่น่าคิดอย่างที่สุดในสังคมไทยเวลานี้!!
…...............................................
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย : ช่อชมพู
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม 2561 เวลา 08.00 น.