ออกกฎหมายห้ามจัดสอบวิชาการเด็กปฐมวัย - ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 5แสน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ออกกฎหมายห้ามจัดสอบวิชาการเด็กปฐมวัยกอปศ.ร่างกฎหมายปฐมวัย ดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก ระบุชัดห้ามจัดสอบสาระในระดับปฐมวัย แต่ทดสอบสมรรถนะได้ กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 5แสน
วันนี้(3 เม.ย.)ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า ขณะนี้การยกร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ..ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการปรับรายละเอียดซึ่งคาดว่าจะเสนอรัฐบาลพิจารณาได้เร็ว ๆ นี้ โดยร่างกฎหมายนี้จะมีการกำหนดนิยาม คำว่า เด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน ว่า หมายถึงเด็กที่มีอายุไม่เกิน 8 ปี เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเด็กได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย ให้มีสมรรถนะอย่างรอบด้าน เพราะช่วงวัยนี้เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการพัฒนามนุษย์ โดยจะต้องหาวิธีการป้องกันไม่ให้มีการยับยั้งพัฒนาการดังกล่าว ซึ่งหมายถึงการสอบโดยเน้นสาระ ดังนั้นจะมีการกำหนดลงในร่าง พ.ร.บ.นี้ ว่า ห้ามสอบ แต่จะเปิดให้มีการจัดสอบได้ในกรณีของการสอบสมรรถนะ เช่น การทดสอบพฤติกรรมเด็ก หรือ สอบพ่อ แม่ เป็นต้น
“จากการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่เห็นว่าเด็กชั้น ป.1 และ 2 ไม่ควรเรียน 8 กลุ่มสาระ แต่ให้เน้นสมรรถนะ ซึ่ง ศธ.ก็รับลูกไปแล้ว โดยขณะนี้กำลังปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนการสอนในชั้นดังกล่าว โดยไม่เน้น 8 กลุ่มสาระ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ ศธ.รับลูกและจะเดินไปพร้อมกับกอปศ.”ศ.วิริยะกล่าว
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า กฎหมายพัฒนาเด็กปฐมวัย จะดูแลและพัฒนาเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนถึงอายุ 8 ขวบ โดยแบ่งช่วงวัยของเด็กเป็น 1 ช่วง คือ 1 ช่วงก่อนคลอด หรือทารกในครรภ์มารดา 2 ช่วงแรกเกิดถึง 3 ปีบริบูรณ์ หรือช่วงเด็กเล็ก 3 ช่วงอายุ 3 ปีบริบูรณ์ ถึงก่อน 6 ปีบบูรณ์ เรียกว่าช่วงก่อนวัยเรียน หรือวัยอนุบาล และ4 ช่วงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ถึงก่อน 8 ปีบริบูรณ์ เรียกว่า ช่วงรอยต่อระหว่างวัยอนุบาลกับวัย ป.1-2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรค 1ว่า เพื่อเป็นการปกป้องพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ห้ามมิให้สถานศึกษาตามกฎหมายว่า ด้วยการศึกษาแห่งชาติ และโรงเรียนตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงเรียนเอกชน รับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาโดยใช้วิธีการสอบคัดเลือก เว้นแต่ได้กระทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด , มาตรา 19 วรรค2 ยังระบุว่า ห้ามบุคคลใดเรียกรับเงินหรือเก็บเงิน หรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อเป็นเงื่อนไขในการรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาในระดับอนุบาลและประถมศึกษา โดยมีบทกำหนดโทษในมาตรา 27 ว่า ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 19 วรรค 1 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และมาตรา 28 กำหนดว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19 วรรค 2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิด 10 เท่าของเงินที่เรียกรับ หรือเงินที่เรียกเก็บหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้กำหนดให้เงินเบี้ยปรับดังกล่าว ส่งเข้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 3 เมษายน 2561 เวลา 16.54 น.