ยันพรบ.ปฐมวัยควรเลิกให้เด็กประถมสอบเข้าโรงเรียน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ยันพรบ.ปฐมวัยควรเลิกให้เด็กประถมสอบเข้าโรงเรียนบอร์ด อิสระฯ สั่งทบทวน ร่าง พ.ร.บ.เด็กปฐมวัย หลังโดนวิจารณ์ ไม่ให้มีการสอบเข้าเรียนในระดับประถมฯ ส่งผลกระทบมากไป "ดารณี"เผยยังยืนยันว่า ไม่ควรให้เด็กประถมต้องสอบเข้าเรียน แต่จะหาแนวทางที่เป็นกลางดีกับทุกฝ่าย พร้อมปรับลดจำนวน คกก.นโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เล็งนำสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้อยู่ใต้ปีกซูเปอร์บอร์ด
นางสาวดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ได้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การปฐมวัย พ.ศ.... และมีมติให้การทบทวนในหลายประเด็น เช่น เรื่องคำนิยามของเด็กปฐมวัย ที่ในร่างดังกล่าวระบุให้หมายความว่า บุคคลซึ่งต่ำกว่า 8 ปีบริบูรณ์และ ให้หมายรวมถึงทารกในครรภ์มารดา ตั้งแต่ปฎิสนธิจนถึงก่อนคลอดด้วย ซึ่งในประเด็นนี้อาจจะไปทับซ้อนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และ ยังมีประเด็นเรื่องของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่ในร่างพ.ร.บ.เด็กปฐมวัย พ.ศ.... กำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากรัฐมนตรีเกือบทุกกระทรวงเข้ามาร่วม ซึ่งที่ประชุมมองว่าจำนวนมากเกินไป อีกทั้งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่ประชุมมองว่าหากเกิดสำนักงานใหม่ จำนวนมากอาจจะไม่ส่งผลดี ดังนั้น จึงแนะนำให้สำนักงานดังกล่าวเป็นเหมือนหน่วยงานหนึ่งของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ ซูเปอร์บอร์ด ด้านการศึกษานอกจากนี้ยังทบทวน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณา เรื่องการสอบเข้าเรียนต่อชั้นประถมศึกษาด้วย เนื่องจากในพ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า เพื่อเป็นการปกป้องพัฒนาการเด็กปฐมวัย ห้ามมิให้สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและโรงเรียนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาโดยใช้วิธีการสอบคัดเลือกหรือทดสอบสมรรถนะ คุณลักษณะ ความรู้ หรือ ความสามารถอื่นใดของเด็กปฐมวัยรวมถึงการฝากเด็กปฐมวัยเข้าเรียนในสถานศึกษาด้วย ซึ่งที่ประชุมมอบให้มีการทบทวนในประเด็นนี้ เพราะหากบังคับใช้กฎหมายในมาตรานี้ไปก็จะมีผลกระทบในวงกว้าง เช่น เมื่อครูทำการทดสอบเด็กให้แยกสี หรือ ผูกเชือกรองเท้า ก็เท่ากับว่าเป็นการทดสอบแล้ว ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายในมาตรานี้ ก็อาจทำให้โดนปรับตามวงเงินที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 500,000 บาท เป็นต้น ซึ่งถือว่าจะส่งผลให้สถานศึกษาไม่อยากรับเด็ก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการทบทวนในเรื่องนี้ แต่ คณะอนุกรรมการเด็กเล็กก็ยืนยันว่าจะยึดหลักการเดิมที่จะไม่ให้มีการสอบเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา เพราะเด็กวัยนี้ไม่ควรที่จะมุ่งเรียนเพื่อการแข่งขัน ดังนั้น คณะกรรมการอิสระฯ จะหาแนวทางที่เป็นกลางมากที่สุด เพื่อลดผลกระทบและส่งเสริมพัฒนาการเด็กในวัยดังกล่าวอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก จะไปปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป
ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า ตนได้สรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ให้ที่ประชุม คณะกรรมการอิสระฯ พิจารณา ซึ่งได้นำเสนอ 5 ประเด็น ได้แก่ การศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการดำรงชีวิต การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาทางเลือก การวัดและประเมินผลการจัดการศึกษา และการสร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษา เพื่อให้นำไปใช้ในการจัดทำพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่อไป.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 08:53 น.