รื้อใหม่ ร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัย พ.ศ..
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
รื้อใหม่ ร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัย พ.ศ..บอร์ด กอปศ. ถก รื้อร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัย พ.ศ. ชี้ กฎหมายบางมาตราทับซ้อนกับกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เตรียมประชาพิจารณ์และรับฟังความเห็นจากประชาชนใหม่อีกครั้ง
วันนี้ (20 มี.ค) รศ.ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือถึงร่างพ.ร.บ.การปฐมวัย พ.ศ...โดยขอให้มีการทบทวนในร่างดังกล่าวบางมาตรา คือ มาตรา 4 คำนิยามเด็กปฐมวัยหมายความว่า บุคคลซึ่งต่ำกว่าแปดปีบริบูรณ์และให้หมายรวมถึงทารกในคครภ์มารดาตั้งแต่ปฎิสนธิจนถึงก่อนคลอดด้วย ซึ่งในความหมายทารกในครรภ์มารดานั้นอาจไปทับซ้อนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และ มาตรา 9 คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีรัฐมนตรีเกือบทุกกระทรวงเข้ามาร่วมเป็นกรรมการมากเกินไป รวมถึงมาตรา 13 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้เป็นเหมือนหน่วยงานหนึ่งของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ ซูปเปอร์บอร์ด นอกจากนี้ยังทบทวนมาตรา 31 เพื่อเป็นการปกป้องพัฒนาการเด็กปฐมวัย ห้ามมิให้สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและโรงเรียนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาโดยใช้วิธีการสอบคัดเลือกหรือทดสอบสมรรถนะ คุณลักษณะ ความรู้ หรือความสามารถอื่นใดของเด็กปฐมวัยรวมถึงการฝากเด็กปฐมวัยเข้าเรียนในสถานศึกษาด้วย
“แม้จะมีการทบทวนในมาตร 31 แต่ กอปศ.ยืนยันในการยึดหลักการเดิมที่จะไม่ให้มีการสอบเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 แน่นอน เพราะในเด็กวัยนี้ไม่ควรที่จะมุ่งเรียนเพื่อการแข่งขัน เพราะหากเน้นวิชาการมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการเรียนในอนาคตนี่คือหลักมาตรฐานสากล โดยการเรียนควรมีความยืดหยุ่น ซึ่งจะทำให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นเมื่ออยู่ในวัยที่เติบโตมากขึ้น ดังนั้นหากบังคับใช้กฎหมายในมาตรานี้ไปก็จะมีผลกระทบในวงกว้าง เช่น เมื่อครูทำการทดสอบเด็กให้แยกสี หรือ ผูกเชือกรองเท้า ก็เท่ากับว่าเป็นการทดสอบแล้ว ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายในมาตรานี้ก็อาจทำให้โดนปรับตามวงเงินที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 500,000 บาท เป็นต้น ซึ่งถือเป็นผลกระทบในวงกว้างและส่งผลให้สถานศึกษาไม่อยากรับเด็ก ทั้งนี้ กอปศ.จะหาแนวทางที่เป็นกลางมากที่สุด เพื่อลดผลกระทบและส่งเสริมพัฒนาการเด็กในวัยดังกล่าวอย่างเต็มที่” รศ.ดร.ดารนี กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังต้องมีการปรับแก้ไขกันต่อไป และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า นอกจากนี้ตนได้สรุปผลการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ให้ที่ประชุม กอปศ.พิจารณา ซึ่งได้นำเสนอ 5 ประเด็น ได้แก่ การศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการดำรงชีวิต การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาทางเลือก การวัดและประเมินผลการจัดการศึกษา และการสร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษา เพื่อให้นำไปใช้ในการจัดทำพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่อไป
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 20 มีนาคม 2561 เวลา 16.24 น.