ครูไทยในยุคปฏิรูปการศึกษา
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ครูไทยในยุคปฏิรูปการศึกษาเมื่อพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาไทย คนที่รับบทหนักที่สุดคงหนีไม่พ้นครูไทยในแดนแหลมทองแห่งนี้ ที่ต้องเผชิญกับความสับสนและต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนตามยุคสมัยและนโยบายที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ยังไม่นับรวมถึงงานเอกสารที่มีมากมาย ตลอดจนการอบรมต่างๆ ที่ครูไทยต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ต้องต่อสู้กับสิ่งเร้ารอบตัวเด็กด้วยสื่อการสอนและกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่การสอนบนกระดานเอาไม้ชี้ให้เด็กอ่านตามอีกเหมือนสมัยก่อน “ครู” ในยุคนี้จึงไม่ใช่ผู้สอนอีกต่อไป ต้องเปลี่ยนจากคำว่า “ผู้สอน” หรือ teacher มาเป็นผู้อำนวยการหรือกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ หรือ facilitator นั่นเอง
ในเวทีปฏิรูปการศึกษา ทุกคนชื่อว่า “ครู” คือจุดเปลี่ยน หากครูปรับรูปแบบการเรียนและเปลี่ยนวิธีการสอนจากรูปแบบเดิมๆ ให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยครูเป็นเพียงผู้ออกแบบการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 และใช้กิจกรรมในการสอนที่กระตุ้นสมองซีกขวาโดยใช้จังหวะ ดนตรี ทำนอง หรือจินตนาการ เพื่อทำให้เกิดความจำ วิธีการสอนแบบนี้เด็กจะจำได้เองโดยไม่ต้องใช้วิธีท่องจำ ความทรงจำที่เกิดขึ้นจะเป็นความทรงจำที่เกิดจากการทำกิจกรรมในการเรียนรู้ ทำให้เป็นความทรงจำระยะยาว นอกจากการออกแบบการเรียนการสอนแล้ว สภาพแวดล้อมในห้องเรียนก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ห้องเรียนจึงเปรียบเสมือนครูอีกคนของเด็ก โดยการไปหยิบ จับ เรียนรู้ได้ แม้ครูไม่อยู่ในห้องก็มีกิจกรรมหลากหลายที่จัดไว้ในห้องเรียนให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นการทำพื้นที่ของครูให้เป็นมิตรกับเด็กให้มากที่สุด แม้กระทั่งเรื่องของ “วินัย” ก็ต้องทำให้เป็นวินัยเชิงบวก
การปฏิรูปการศึกษานั้นต้องให้ความสำคัญกับเด็กอนุบาลหรือปฐมวัยมากที่สุด เพราะการที่จะสร้างเด็กมหัศจรรย์ต้องสร้างใน 7 ปีแรก เด็กวัยนี้จะกระหายในการเรียนรู้ สนใจสิ่งรอบตัวทุกอย่างที่เข้ามากระทบ ป้อนอะไรไปสามารถรับได้หมด ครูอนุบาลจึงเป็นครูที่มีความสำคัญระดับชาติเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นครูที่เป็น “ผู้ปั้น” อย่างแท้จริง เด็กส่วนใหญ่จะมีครูในดวงใจต่างกัน และครูเหล่านั้นกว่าครึ่งเป็นครูคนแรกหรือครูในวัยอนุบาล หากครูอนุบาลคนไหนไม่สามารถเข้าไปนั่งในใจเด็กได้ถือว่าล้มเหลวในการเป็นครูเลยทีเดียว ที่น่าเป็นกังวลคือครูที่ชอบ “ตีตรา” เด็ก หากครูคนนั้นเป็นครูอนุบาลจะทำให้เด็กฝังใจไปตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้
ไม่ว่าการปฏิรูปการศึกษาจะออกมาในรูปแบบไหน ถ้าเปรียบเทียบการศึกษาเป็นเครื่องจักรกล ฟันเฟืองตัวสำคัญในการขับเคลื่อนก็คือครู “ระบบ” เปรียบเสมือนน้ำมันหล่อลื่นที่จะทำให้ฟันเฟืองหรือเครื่องกลตัวนี้ขับเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น หากปล่อยให้เจ้าของเครื่องจักรกลแต่ละตัวเป็นผู้ขับเคลื่อน การปฏิรูปการศึกษาไทยไม่ควรมีรูปแบบที่ตายตัว ควรมีกระบวนการที่ให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดระบบการจัดการศึกษา เพื่อเตรียมคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ งบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลางก็ให้แต่ละพื้นที่จัดการดูแลกันเอง ขึ้นอยู่กับการบริหารการจัดการ หากปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ ปราศจากการคอร์รัปชันเชิงนโยบายทั้งเรื่องงบประมาณที่นับตามจำนวนเด็ก การสั่งแบบเรียนที่มีการล็อกสเปก การฮั้วค่าอาหารกลางวัน แม้กระทั่งเรื่องนมบูดก็มีให้เห็นอยู่ทุกปี กระทรวงศึกษาธิการจึงเป็นกระทรวงที่ปฏิรูปยากที่สุด เพราะแต่ละจุดโยงกับงบประมาณมหาศาล
อีกประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากก็คือ ระบบในการประเมินผลเด็กที่ใช้คะแนนเป็นตัวชี้วัด ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประหลาดที่สุด นั่นคือ มีการส่งเด็กเรียนกวดวิชาตั้งแต่ชั้นอนุบาลเพื่อเตรียมตัวสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง แม้ พ.ร.บ.ทางการศึกษาจะระบุว่ารัฐต้องจัดการศึกษาภาคบังคับให้เด็กอย่างเท่าเทียม แต่ในความเท่าเทียมนั้นไม่เคยมีความเท่ากันเลย.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 00:01 น.