เล็งผุดหน่วยงานกลางยกเครื่องปฏิรูปครูทั้งระบบ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เล็งผุดหน่วยงานกลางยกเครื่องปฏิรูปครูทั้งระบบกอปศ.ถก ปฎิรูปครู เล็งสร้างหน่วยงานกลางในการกำหนดนโยบายการผลิต พัฒนา และคัดกรองครูทั้งระบบ ชี้ ที่ผ่านมาผลิตบัณฑิตครูล้นตลาด ทำรัฐเสียหายและเด็กไม่ได้รับความยุติธรรม
วันนี้ (20 ก.พ.) รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ประธานอนุกรรมการครูและอาจารย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ว่า ตนได้เสนอแนวทางการปฏิรูปครูทั้งระบบ เพื่อวางเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาทั้งการผลิต การพัฒนา และการคัดครองครูเข้าสู่ระบบ โดยการผลิตครูที่ผ่านมาพบปัญหาอย่างชัดเจน คือ การผลิตครูเกินและขาดในบางสาขาวิชา ซึ่งสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในขณะนี้เราจะต้องมีหน่วยงานกลางในเรื่องของการปฏิรูปครูทั้งระบบ โดยจะให้เป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบายวางแผนการผลิต และการใช้ครูของประเทศ ซึ่งหน่วยงานกลางนี้จะมีอำนาจในการใช้งบประมาณ วิชาการ
ทั้งนี้หลักการการผลิตครูมองว่าควรเป็นระบบปิดพร้อมทำสัญญากับผู้เรียนในเบื้องต้นว่า เมื่อเรียนครูแล้วจะมีทุนการศึกษาและการันตีการบรรจุครูให้ในสาขาขาดแคลน
นอกจากนี้การสนับสนุนงบประมาณนั้นอยากให้สร้างมาตรการจูงใจหากสถาบันผลิตครูแห่งใดผลิตครูในสาขาวิชาที่มีความต้องการสูงนั้นจะต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณมากเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ตรงเป้าหมายของการผลิตครูอย่างมีคุณภาพและลดการผลิตครูในสาขาที่เกิน
“เราควรมีระบบฐานข้อมูลกลางที่จะบอกได้ว่าในตอนนี้เราขาดแคลนครูระยะยาวในสาขาวิชาไหนบ้าง เพื่อจะกำหนดเป็นพื้นที่ขาดครูแบ่งเป็นพื้นที่สีเขียว แดง เหลือง ในการสร้างครูอย่างมีคุณภาพในอนาคต เราเชื่อว่าแต่ละสถาบันที่ผลิตครูคงไม่สามารถผลิตได้ครบทุกวิชาเอก แต่จะต้องกำหนดเงื่อนไขคุณภาพระดับสูงที่จะบอกได้ว่า สถาบันผลิตครูที่จะผลิตครูในบางสาขาวิชาได้ เช่น ครูวิชาเคมี ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น จะต้องมีสถาบันที่มีคณะเชี่ยวชาญทางเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นคณะวิทยาศาสตร์ หรือคณะอักษรศาสตร์ เข้ามาช่วยเป็นแบคอัพให้ ถึงจะอนุญาตให้มีการผลิตครูเฉพาะทางเหล่านี้ได้ รวมถึงสถาบันผลิตครูจะต้องมีโรงเรียนเครือข่ายร่วมพัฒนาวิชาชีพพร้อมครูประจำการที่มีศักยภาพสูงในการเป็นพี่เลี้ยงให้นักศึกษาครู” ประธานอนุกรรมการครูและอาจารย์ กล่าว
รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้หลักสูตรการผลิตครูจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยหลักสูตรการผลิตครูจะต้องเป็นหลักสูตรแบบฐานสมรรถนะ เพราะแต่เดิมหลักสูตรผลิตครูเน้นการเรียนแบบรายวิชาแบบไหนจำนวนเท่าไหร่ และการเรียนในลักษณะนี้ไม่ได้การันตีว่าครูที่สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตครูไม่สามารถจะเป็นครูได้จริงๆ ซึ่งหลักสูตรฐานสมรรถนะจะเป็นการบูรณการความรู้หลายๆเรื่องเข้าด้วยกัน และความสามารถของครูที่เราอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าจะมีการกำหนดสมรรถนะครูที่ถูกสร้างจากหลักสูตรนี้เพื่อตอบโจทย์บัณฑิตครูมีคุณสมบัติครบถ้วนตามสมรรถนะครูที่กำหนดไว้ โดยหลักสูตรการกำหนดสมรรถนะครูนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด และจะถูกนำมาใช้อย่างแน่นอนสำหรับการผลิตครูทั้งประเทศ ส่วนระบบคัดกรองครูอยากให้โรงเรียนมีระบบคัดเลือกครูได้ตามความต้องการในสาขาที่ขาดแคลนด้วย เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนมักไม่ค่อยมีบาทบาทในการเลือกครูด้วยตัวเองเท่าที่ควร รวมถึงจะต้องการะจายตัวที่มีคุณภาพสูงไปตามโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล แต่เราจะต้องสร้างแรงจูงใจด้วยการเพิ่มสวัสดิการค่าตอบแทนและการเข้าสู่วิทยฐานะของครูในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้แบบพิเศษให้ นอกจากนี้การพัฒนาครูมีข้อเสนอแนะว่าจะต้องสร้างเนชั่นแนลดิจิทัลแพลทฟอร์ม ซึ่งเนชั่นแนลดิจิทัลแพลทฟอร์มนี้จะอยู่ในรูปแบบออนไลน์เป็นแหล่งทรัพยากรที่ใช้พัฒนาสมรรถนะครูทั้งการกำหนดสมรรถนะครูรายบุคคล วินิจฉัยวางแผน เพื่อให้ครูได้รับการเติมเต็มองค์ความรู้จนสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งครูสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองว่าครูยังขาดสรรถนะในด้านไหน โดยที่ครูไม่ต้องวิ่งไปหาหน่วยอบรม เพราะจะเป็นการดึงครูออกจากห้องเรียน อีกทั้งรูปแบบนี้จะมีการวัดและประเมินผลไปในตัวด้วย
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สกศ.ไปรวบรวมสภาพปัญหาที่วิกฤตของครูมีปัญหาตรงไหนบ้างอย่างไร และการผลิตครูต่อปีต้องเป็นจำนวนเท่าไหร่และจำแนกสาขาแบบไหนถึงจะเหมาะสม รวมถึงมีบัณฑิตครูที่จบมาแล้วยังค้างอยู่จำนวนเท่าไหร่ เพราะผลิตมาแล้วไม่ยุติธรรมในส่วนของเด็กและรัฐเกิดความเสียหาย
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 16.00 น.