ขอความชัดเจนจาก ก.ค.ศ. 'ไม่จบครู-ไม่มีตั๋วครู' สอบครูได้
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ขอความชัดเจนจาก ก.ค.ศ. 'ไม่จบครู-ไม่มีตั๋วครู' สอบครูได้สภาคณบดีครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ ขอความชัดเจนเกณฑ์คัดเลือก"ครูผู้ช่วย"แบบใหม่ "ไม่จบครู-ไม่มีตํ๋วครู"สอบครูได้" จาก ก.ค.ศ.วอนพิจารณารอบคอบ หวั่นแรงต้านลุกฮือ!!
เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2561 รองศาสตราจารย์ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ -ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ( ส.ค.ศ.ท. ) เปิดเผย "คมชัดลึกออนไลน์" ถึงการจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยแบบใหม่ว่า ก.ค.ศ.จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาปรับเนื้อหาการสอบภาค ก (ความรอบรู้และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพ) ให้สอดคล้องกับข้อสอบภาค ก ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)
โดยตัดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูให้ไปรวมไว้ในการสอบภาค ข (ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง) ซึ่งจะทำให้เนื้อหาการสอบภาค ก เป็นการสอบความรู้พื้นฐานทั่วไป ส่วนการการสอบภาค ข. จะมีเนื้อหาวิชาชีพจะเน้นหนักในการคัดเลือกครู ดังที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น
"ทางสภาคณบดีคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ฯ ไม่ขัดข้องถ้าจะให้ใช้ข้อสอบภาค ก. ชุดเดียวกันกับก.พ. เพราะจะทำให้ขั้นตอนการสอบลดลง อย่างไรก็ตามการที่สำนักงาน ก.ค.ศ.มีความเห็นว่าในอนาคตอาจให้ผู้ที่สอบผ่านภาค ก ของ ก.พ.สามารถมาสมัครสอบภาค ข. เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครูได้นั้น สภาคณบดีฯยังมีความสงสัยว่า ก.ค.ศ. หมายความว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนจบวิชาชีพครูมาแต่สอบผ่านภาค ก. ของก.พ.มาสอบภาค ข. วิชาชีพครูได้ด้วยใช่หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง บุคคลเหล่านี้ก็จะมีสิทธิขอสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยไม่ต้องเรียนจบครูมาก่อนก็ได้ด้วยใช่หรือไม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจขัดกับกฎหมายหลายข้อ"
เช่น พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กำหนดไว้ว่า ผู้ขอรับอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต้องมีวุฒิปริญญาตรีทางการศึกษาหรือเทียบเท่าหรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรองและผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่คุรุสภากำหนด โดยมีข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครู พศ.2546 กำหนดใหหลักสูตรวิชาชีพครู้องเรียน 4 ปี ฝึกสอน 1 ปี รวมเป็น 5 ปี ดังนั้น พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนจบป.ตรี สาขาวิชาชีพครูเข้ามาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้
"โดยพ.รบ.ดังกล่าวกำหนดขึ้นมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เป็นวิชาชีพควบคุมเพื่อให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพ มาตรฐาน มีคุณค่าและศักดิ์ศรีของวิชาชีพ ผู้ที่ไม่ได้รับการอบรมบ่มเพาะมาแล้วเป็นอย่างดีไม่อาจให้เข้าไปประกอบวิชาชีพครูได้เช่นเดียวกับวิชาชีพควบคุมอื่นที่ไม่อนุญาตให้ผู้เรียนจบสาขาวิชาอื่นๆหรือไม่ได้รับการอบรมตามมาตรฐานเข้ามาประกอบอาชีพเช่น ทหาร แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ทนายความ เป็นต้น "
ดังนั้นแนวคิดของ ก.ค.ศ.ดังกล่าวจึงต้องขอความชัดเจนเพราะจะเป็นการสร้างความสับสนปั่นป่วนขึ้นในวงการผลิตครูและวิชาชีพครูขึ้นอีก
ทั้งนี้สภาคณบดีได้โทรศัพท์สอบถามไปยังก.ค.ศ.แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนบอกแต่เพียงว่าให้รอฟังประกาศ จึงใคร่ขอให้ ก.ค.ศ.พิจารณาให้รอบคอบรับฟังข้อมูลให้รอบด้านก่อนที่จะเสนอข้อมูลและมีการประกาศออกมา เพราะแนวคิดแบบนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมือปีที่แล้วที่อนุญาตให้ผู้ไม่ได้เรียนจบครูและไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูมาสอบบรรจุเป็นครูได้ ทำให้เกิดการประท้วง คัดค้านทั่วทุกภูมิภาค และมีการล่ารายชื่อครู ผู้บริหาร อาจารย์ นิสิตครู และผู้ปกครอง เพื่อยื่นถึงรัฐบาลมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่สอบบรรจุเป็นครูได้แล้วเหล่านั้นปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเลย
สภาคณบดีฯซึ่งเป็นสภาของสถาบันการผลิตครูของประเทศไทยที่ประกอบด้วยสมาชิก 84 สถาบัน เกี่ยวข้องกับคุณภาพและมาตรฐานของวิชาชีพครูโดยตรงและมองเห็นปัญหาและมีการศึกษาข้อมูลเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งมาโดยตลอด ก็ได้เคยแสดงจุดยืนและคัดค้านแนวคิดดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่งและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบนี้
จึงใคร่ขอแจ้งให้ทุกคนทราบและทำความเข้าใจว่า นับตั้งแต่มีการปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปการผลิตครูเมื่อปี 2546 เป็นต้นมา ได้มีการกำกับ ควบคุมมาตรฐานวิชาชีพครูมาเป็นอย่างดีทั้งมาตรฐานการรับผู้เข้ามาเรียน มาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิตและมาตรฐานบัณฑิต มีผลทำให้วิชาชีพครูในปัจจุบันได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมในลำดับสูงมากมีอัตราผู้สมัครเข้าเรียนและมีผลคะแนนสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอยู่ในระดับสูงไม่เหมือนเดิมดังแต่ก่อนเก่าอีกต่อไปแล้ว ซึ่งผู้ที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ ยังมีความคิดและทัศนคติเดิมๆเพราะไม่ได้คลุกคลีใกล้ชิด ไม่ได้ติดตามข้อมูล จึงอาจยังไม่ทราบว่าสถานการณ์ผลิตครูได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีและมีมาตรฐานขึ้นมากแล้ว
ผู้บริหารและหน่วยงานระดับสูงที่ยังไม่ทราบข้อมูลนี้ มักจะกำหนดนโยบายและวิธีการต่างๆที่พยายามจะเอาคนเก่งคนดีสาขาอื่นๆบรรจุเข้ามาเป็นครู โดยไม่รู้ว่าแทนที่จะได้คนดีมีคุณภาพมาเป็นครู กลับจะได้คนที่ไม่ตั้งใจมาเป็นครูแต่อยากจะเป็นครู(ด้วยเหตุผลหลากหลายและความจำเป็นบางอย่าง)
ส่งผลให้ได้ครูที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณลักษณะของความเป็นครู เพราะไม่ได้รับความรู้ ทักษะที่ดี ไม่ได้รับการขัดเกลาบ่มเพาะคุณลักษณะและจิตวิญญาณของความเป็นครูเพื่อที่จะมาเป็นครูที่ดีพอ ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของประเทศด้อยคุณภาพเป็นอย่างมาก
"วิชาชีพครูของเราพัฒนาและก้าวหน้ามาไกลแล้ว อย่าถอยหลังกลับไปที่เดิมอีกเลย"
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561