“ประเมินภายนอก”ทุกข์ของครูสู่วิวาทะ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“ประเมินภายนอก”ทุกข์ของครูสู่วิวาทะก่อนสิ้นปี 2557 นักวิจัยหนุ่มคลี่ตารางชีวิตครูไทยใน1ปี พบครูถูกดึงจากห้องเรียน 84 วันจาก 200 วัน สะเทือนถึงนักวิจัย“รุ่นเดอะ”อย่างแรง!!
“ผลวิจัยชี้ว่า กิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การสอนที่ครูต้องใช้เวลามากที่สุด 3 อันดับแรกคืออันดับ 1 การประเมินของหน่วยงานภายนอกเฉลี่ย 43 วัน ทั้งการประเมินโรงเรียน ประเมินครู และประเมินนักเรียน โดยครูใช้เวลาไปกับการประเมินของหน่วยงานต้นสังกัด ในโครงการต่างๆ 18 วัน การประเมินของสถาบันทดสอบ 16 วัน และการประเมินของสมศ. 9 วัน ตามด้วยอันดับ 2 การแข่งขันทางวิชาการ 29 วัน และอันดับ 3 การอบรมจากหน่วยงานภายนอก 10 วัน”
หลังเปิดศักราชใหม่ได้ไม่นาน วันนี้ในอดีต 20 มกราคม 2558 "นักวิจัยรุ่นเดอะ" อย่าง "ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์" ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน)หรือสมศ..ในขณะนี้มีกาอาการเจ็บจิ๊ด!! ถึงระดับต้องนัดสื่อมวลชนมาที่ี่อาคารพญาไท พลาซ่า กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโต๊ะแถลงตอบโต้ “นักวิจัยรุ่นใหม่”ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน หรือสสค.
ศ.ดร.ชาญณรงค์ เปิดฉากแถลงว่า ผลงานวิจัยของสสค. เรื่องกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู พบว่า ใน 1 ปีมีวันเปิดเรียน 200 วันครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมที่ไม่ใช่การสอบถึง 84 วัน คิดเป็นร้อยละ 42 โดยอันดับ1ที่ครูใช้เวลามากที่สุด คือการประเมินจากหน่วยงานภายนอก(ประเมินร.ร./ครู/นร.)43 วัน โดยใช้เวลากับการประเมินสมศ.มากที่สุด 9 วันนั้น
“ถือเป็นงานวิจัย ที่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เกิดผลกระทบในทางลบ และเกิดการชี้นำสังคมไปในทางที่ไม่ถูก เพราะงานวิจัยชิ้นนี้ ดูจากฐานคิดก็ผิดแล้ว”
ศ.ดร.ชาญณรงค์ แจกแจงว่า สมศ.ได้ใช้เวลาในการประเมินสูงสุดเพียง 3 วัน ใน 5 ปี หรือเฉลี่ยประมาณ 5 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น ดังนั้น สมศ.ไป1ครั้งใน 5 ปี และใน 1 ครั้งไปเพียง3วัน อยากถามว่า 9 วัน เอาฐานคิดมาจากไหน อีกทั้งตามแผนภูมิในการวัดเป็น 1 ปี แต่สมศ. 5 ปี ตั้งต้นก็ผิดก็พลาดแล้ว จะมาบอกว่าสมศ.ใช้เวลาอันดับ 1 ไม่ถูกต้อง
“เมื่อผลวิจัยดังกล่าวเผยแพร่สู่สังคม ก็เป็นการชี้นำสังคมไปในทางที่ไม่ถูก ทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน เมื่อชี้นำผิดแบบนี้ สมศ.ก็ตกเป็นจำเลยสังคมแล้วใครจะรับผิดชอบ"
ศ.ดร.ชาญณรงค์ ยังกล่าวพาดพิงไปถึงงานวิจัยของไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นแบบนี้ และไม่สามารถนำไปใช้ได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบในทางลบ ดังนั้นคุณภาพงานวิจัยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ความจริงอีกด้าน จากปากของ"ศ.ดร.ชาญณรงค์"ระบุว่า การประเมินภายนอกของสมศ. ถ้าวิถีชีวิตครูดำเนินไปตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ข้อปฎิบัติที่ตามต้นสังกัดกำหนดให้ ใครสอนอะไรให้เตรียมการสอนวิชานั้น เพื่อกำหนดว่าสอนอะไร วัตถุประสงค์เพื่ออะไร ประเมินเด็กอย่างไร วางแผนการสอนเป็นชั่วโมง ประเมินการสอน และนำผลการประเมินนั้นมาพัฒนา เอกสารที่ครูทำก็จะนำไปมาใช้ในการประเมินภายในและประเมินภายนอก สมศ.
"แต่ชีวิตจริงไม่ใช่ ครูไม่ได้ทำ ครูสอนเด็กโดยไม่บันทึก ไม่ได้มีแผนการสอน พอสมศ.ไปประเมิน ครูต้องมาทำเอกสารต่างๆเพื่อการประเมิน แสดงว่าวิถีชีวิตครู ไม่ใช่วิถีชีวิตคุณภาพ สมศ.จึงอยากให้ครูพัฒนาการเรียนการสอน”
ในวันเดียวกันนั้น “นักวิจัยรุ่นใหม่” ดร.ไกรยศ ภัทรวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. ออกมาอธิบายข้อโต้แย้งของ“นักวิจัยรุ่นเดอะ”ว่าผลการวิจัยชิ้นนี้ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการ โดยสุ่มตัวอย่างจากครูสอนดีทุกตำบลทั่วประเทศไทย ซึ่งผลการวิจัยที่ระบุว่าใช้เวลากับการประเมิน สมศ.มากที่สุด 9 วันนั้น มาจากคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียน ที่ครูต้องมีการเตรียมการ เช่น การจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง การเดินทาง และการพบปะกับเจ้าหน้าที่ว่าต้องใช้เวลากี่วัน
ผลการวิจัยนี้จึงรวมถึงเวลาในการเตรียมการด้วย ไม่ใช่เวลาที่เข้ามาประเมินเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามคำถามนี้มีครูที่ตอบว่าใช้เวลามากกว่า 9 วัน เป็นจำนวนมาก แต่สสค.นำมาหาค่าเฉลี่ย จนได้ผลวิจัยที่ 9 วัน
“ผมยืนยันว่าผลการวิจัย มาจากเสียงสะท้อนของครูทั่วประเทศไทย เราจำเป็นต้องฟัง และมาร่วมกันหาคำตอบ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ของครูที่ไม่เคยส่งเสียงมาให้สังคมได้รับทราบเลย ซึ่งสสค.ไม่สามารถจะมาแก้ตัวเลขที่ครูบอกได้ เรามีแต่ข้อเท็จจริง มีเอกสารเป็นตั้งๆ และไม่ได้มุ่งชี้ผลการวิจัย ไปที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง อยากให้ลองลงพื้นที่ไปสอบถามครูดู และความจริงก็จะปรากฏ”ดร.ไกรยศ ระบุ
ก่อนที่วิวาทะระหว่าง“นักวิจัยรุ่นเดอะ” กับ “นักวิจัยรุ่นใหม่” จะลุกลามกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” กระทบชิ่งถึงคุณครูทั่วประเทศ
“หมอธี”นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้นได้ออกมาให้สติว่า หากมองแบบเป็นกลางทั้งข้อมูลการวิจัยของสสค.และประเด็นที่สมศ.ยกขึ้นมาชี้แจงนั้น ไม่ใช่ตัวเลขจริงทั้งหมด แต่เป็นตัวเลขการสำรวจครูบางกลุ่ม ต้องยอมรับว่า ไม่มีงานวิจัยใดที่สมบูรณ์ จึงไม่ควรเสียเวลาเรื่องวันที่ใช้มากน้อยเพียงใด
“แต่สิ่งสำคัญคือ ความรู้สึกกังวลใจ และความทุกข์ของครูที่เกิดขึ้นจริงผ่านกระบวนการประเมิน สิ่งที่ควรทำคือ การช่วยกันทบทวนการประเมิน เรื่องตัวชี้วัดต่างๆว่ามีคุณภาพเพียงพอ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพได้ และไม่เป็นภาระให้ครูน่าจะเป็นทางออกร่วมกันที่สมศ.และทุกฝ่ายที่เข้าไปทำกิจกรรมกับครู”
ปรากฏการณ์ทุกข์ของครูนำสู่วิวาทะของทั้งคู่ เปิดประตูให้สังคมไทยได้มองเห็นความงดงามของนักวิชาการ ผู้มีปัญญาจบปัญหาด้วยสมานฉันท์
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 20 มกราคม 2561