คืนครูให้นักเรียน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
คืนครูให้นักเรียนปัญหาหนึ่งที่ทำให้ครูไม่มีเวลาทำหน้าที่ครูเต็มที่ กระทบกับคุณภาพครู คุณภาพการสอน เท่าที่ผมฟังเสียงสะท้อนจากครูและผู้บริหารโรงเรียน พบว่า ปัญหา มาจากการที่ครูต้องไปทำหน้าที่อื่นๆ ทั้งการบริหาร งานธุรการ และกิจกรรมนอกโรงเรียนตามที่หน่วยงานต่างๆ กระทรวงต่างๆ ขอความร่วมมือมา
เฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang
หลายเรื่องเป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษาเลย
มีข้อมูลว่า แต่ละโรงเรียนจะได้หนังสือสั่งการจาก สพฐ.หรือกระทรวงศึกษาฯนับพันฉบับต่อปี ทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่โดยตรง แล้วยังมีการขอความร่วมมือสารพัดจากหน่วยงานต่างๆในจังหวัด ซึ่งบางครั้งอาจพอถือได้บ้างว่าเป็นกิจกรรมทางสังคม แต่หลายๆ กรณีมันเกินหน้าที่ไปไกล ทำให้ทั้งครูและนักเรียนไม่ได้เรียน ไม่ได้ทำกิจกรรมที่ควรจะทำ หรือมีเวลามาเรียนน้อยลง
จากการสำรวจพบว่าครูมีภารกิจที่ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้ถึงเทอมละ 84 วัน หรือ 42% ของวันเปิดเรียน
ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก และเคยพูดอยู่เสมอว่า ต้องคืนครูให้นักเรียน หมายถึงครูที่ทำหน้าที่ครู ไม่ใช่ผู้ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ผู้หลักผู้ใหญ่ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ ไปจนถึงภารโรง
เรื่องนี้ต้องทำอย่างจริงจัง ซึ่งก็หมายถึงจะต้องปรับปรุงโครงสร้างให้มีเจ้าหน้าที่ทำงานธุรการแทนครู ผู้บริหารการศึกษาบางประเทศฟังปัญหาของประเทศไทยแล้วบอกว่า ประเทศของเขาคนทำธุรการหรืองานอื่นๆ ต้องรับเจ้าหน้าที่เฉพาะ ธุรการก็ต้องให้ธุรการทำ จะให้ครูไปทำทำไม?!
นี่เป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม เราไม่ได้ดูแลเรื่องการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ครูจำนวนมากจึงต้องเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ ภารโรงด้วย โดยเฉพาะในโรงเรียนเล็กๆ
จากนี้ไปในอนาคต จำนวนเด็กทั่วประเทศจะน้อยลง เพราะฉะนั้นความจำเป็นที่จะเพิ่มครูมาขึ้นบัญชีไว้ก็ไม่มี การใช้ครูไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานสอนให้น้อยลงจะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า และการจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ หรือภารโรงเป็นหน้าที่เฉพาะ จะใช้ค่าใช้จ่ายต่ำกว่าจ้างครู ทำให้เงินงบประมาณส่วนนี้จะลดน้อยลงด้วย
เรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ สูญเปล่าทำนองนี้ยังมีอีกมาก ซึ่งเราควรจะได้หยิบยกมาพูดกันต่อไป
ถ้าพูดเร็วๆ อาจจะพอพูดได้ว่าต้องให้เขตพื้นที่ และโรงเรียนไปคิดกันให้มากขึ้น โดยเอาประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นตัวตั้ง
แต่ทั้งนี้ ผมก็ไม่ได้เสนอแบบสุดโต่งว่า “ให้เขตพื้นที่หรือโรงเรียนไปคิดกันเอาเองทุกเรื่อง” เพราะหากเสนอเช่นนั้น เราก็จะพบว่าสิ่งที่ประเทศต้องการในภาพรวม ก็จะไม่เกิดขึ้นเช่นกัน
ถ้าให้โรงเรียนทำตามอัธยาศัย โรงเรียนต่างๆ เกิดตัดสินใจสอนภาษาจีนกันเต็มไปหมด ซึ่งเมื่อมองในภาพรวมทั้งประเทศแล้ว ที่จริงควรจะสอนไม่กี่หมื่นคนเท่านั้น เช่นนี้ก็จะกลายเป็นความสูญเปล่าอย่างมหาศาล
ดังนั้น ในเรื่องคืนครูให้นักเรียน ส่วนกลางจะต้องวางระบบหลักเกณฑ์เสียใหม่ให้ดี ต้องลดการสั่งการและขอความร่วมมือจากครูและโรงเรียนในเรื่องที่ไม่ใช่การศึกษาให้น้อยลง และให้เป็นดุลยพินิจของโรงเรียนและครูมากขึ้นว่า จะไปร่วมในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานักเรียนหรือไม่
นอกจากนี้ อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการกำหนดแบ่งสัดส่วนเวลาที่ครูพึงมีสำหรับการสอน กับเวลาในการรับการประเมินหรือพัฒนา ว่าควรเป็นสัดส่วนเท่าไร
ให้ครูได้สอน ได้รับการพัฒนา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอน และได้รับการประเมินให้สมดุลกัน
........
จากหนังสือ "เปิดมุมคิด พลิกวิกฤตการศึกษาไทย"
กันยายน พ.ศ.2559
ที่มา www.facebook.com/Chaturon.FanPage
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 มกราคม 2561 เวลา 14:06 น.